เข้มมิติตรวจ’เมาขับ’ เสนอร่นเวลาส่งตัว-ลดความคลาดเคลื่อนปริมาณดื่ม  


1 ต.ค. 2567 250 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


นพ.ธนะพงศ์  จินวงษ์  ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) เผยถึงข้อพิจารณาเพิ่มเติมที่น่าสนใจ สืบเนื่องจากกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว เริ่มจากวิธีตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่มี 3 วิธีหลัก คือ ตรวจจากลมหายใจ(เป่า) ตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือด ซึ่งมองว่าการตรวจปัสสาวะเป็นวิธีที่ยุ่งยาก และควรเป็นตัวเลือกสุดท้าย หากไม่สามารถเป่า หรือตรวจเลือดได้เท่านั้น ด้วยลักษณะการตรวจที่เกิดขึ้นบนถนนไม่ว่าจะตั้งด่านหรือในที่เกิดเหตุ การตรวจปัสสาวะต้องมีสถานที่มิดชิด มีอุปกรณ์ และการยืนยันว่าเป็นปัสสาวะของคนๆนั้น 

ดังนั้น  จึงมีข้อกังวลจะถูกใช้เป็นข้ออ้างไม่ตรวจ เพราะต้องการตรวจปัสสาวะเป็นตัวเลือกแรก  พร้อมเสนอให้ระบุรายละเอียดเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่า การปัสสาวะไม่ใช่ทางเลือกแรกที่ขอให้ตำรวจตรวจ  เนื่องจากมีเครื่องมือพื้นฐานคือการเป่า ที่ให้ค่าการตรวจเทียบเท่าการตรวจเลือด “การเป่าควรเป็นตัวเลือกแรก ยกเว้นไม่สามารถทำได้ ซึ่งมีจำนวนน้อย เช่น หมดสติ ไม่รู้สึกตัว หรือมีอาการปอดทะลุจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น” 

ทั้งนี้ ตามข้อ 5 ประกาศกฎกระทรวงเกี่ยวกับกระบวนการและระยะเวลาที่พนักงานสอบสวนจะส่งตัวผู้ขับขี่ไปเก็บตัวอย่างเลือดในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด“ภายในระยะเวลาที่ผบ.ตร.กำหนด” ผู้จัดการศวปถ. เผยว่า เป็นอีกจุดที่ควรระบุให้ชัดเจนถึงคำว่า “ใกล้ที่สุด” จะจำกัดเฉพาะโรงพยาบาลรัฐหรือไม่ โดยเสนอทำเป็นรายชื่อโรงพยาบาล เพื่อให้ตำรวจตรวจสอบพิกัดเมื่อเกิดเหตุได้ว่าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดมีที่ใดบ้าง

ขณะที่“ระยะเวลา”การส่งตัว ปัจจุบันตำรวจและกระทรวงสาธารณสุขมีข้อตกลงกำหนดไว้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง แต่เพื่อประสิทธิภาพของผลตรวจ ควรทบทวนกำหนดเวลาให้น้อยลงเทียบเท่าสากล เพราะจากข้อมูลการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่ามากหรือน้อย  ปริมาณสูงสุดจะอยู่เพียง“ชั่วโมงแรก”

หากผ่านไป 2 ชั่วโมง ต่อให้ดื่มแอลกอฮอล์สูงถึง 80 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง ปริมาณแอลกอฮอล์จะลดต่ำลงกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (ไม่เกินกว่ากฎหมายกำหนด)

พร้อมยกตัวอย่างหลายประเทศที่กำหนดเวลาตรวจไว้ภายใน 1-2 ชั่วโมง อาทิ สหรัฐอเมริกา กำหนดตรวจเลือดหรือเป่าไว้ภายใน 2 ชั่วโมง หากพบประวิงเวลาถือว่าเมาแล้วขับ  หรือแคนาดา กำหนดไว้ภายใน 2 ชั่วโมง หากปฏิเสธตรวจจะมีโทษสูงสุดตามกฎหมายดื่มแล้วขับ หรือออสเตรเลีย อย่างรัฐวิกตอเรีย มีประเด็นน่าสนใจกรณีตรวจไม่ทันเวลาที่กำหนด จะเป็นหน้าที่ของผู้ขับขี่ที่ต้องยื่นคำอธิบายเหตุที่ล่าช้า และมีสิทธิโดนลงโทษหนักเรื่องยื้อเวลา ถือเป็นการผลักความรับผิดชอบไปที่ผู้กระทำผิด... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/3919148/

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved