สสส. - กทม. - ศวปถ. สานพลังภาคีเครือข่าย สร้างการขับขี่ที่ปลอดภัย

สสส. - กทม. - ศวปถ. สานพลังภาคีเครือข่าย สร้างการขับขี่ที่ปลอดภัย


31 ม.ค. 2566 88 แผนงาน : เด็กและเยาวชน ไม่มีเอกสาร


เมื่อวันที่  18 มกราคม 2566 ณ ห้อง 201 ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ (สสส.) และระบบประชุมออนไลน์ Facebook Live ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย (มนป.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  โรงเรียนทักษะพิพัฒน์ บริษัท เอสซีจี สกิลส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ผู้แทนรถจักรยานยนต์รับจ้างและไรเดอร์ และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จัดงานแถลงข่าวโครงการความร่วมมือเพื่อสร้างการขับขี่ที่ปลอดภัยในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์ ผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและผู้ประกอบการ/ธุรกิจรับส่งอาหารในการถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการขับขี่ปลอดภัยในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการทำงานเนื่องจากการใช้ความเร็ว ใช้โทรศัพท์ดูแผนที่ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะการขับขี่เชิงป้องกัน การเฝ้าระวังและสะท้อนความเสี่ยง รวมถึงการจัดการระบบข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ แบบแผนการเกิดอุบัติเหตุและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานครเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนงาน ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน

นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานครและในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีการเติบโตอย่างรวดเร็วของอาชีพใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการดำเนินชีวิตที่ปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่ หนึ่งในนั้นคืออาชีพรถจักรยานยนต์รับส่งอาหารหรือไรเดอร์ (Rider) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วยคือการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างและรับส่งอาหารมีพฤติกรรมเสี่ยงหลัก ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่ที่จะต้องมีความรีบเร่งและทำรอบในการรับส่งอาหารให้ทันตามความต้องการของลูกค้า และความเสี่ยงอื่นๆ เช่น การดูหน้าจอโทรศัพท์ขณะขับขี่ การไม่ชินเส้นทาง สภาพอากาศ ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน รวมถึงเกิดจากพฤติกรรมการขับขี่รถที่ไม่ปลอดภัย การขาดความรู้และทักษะการขับขี่เชิงป้องกันอุบัติเหตุ (Defensive Driving) โดยเฉพาะทักษะการคาดการณ์ประเมินความเสี่ยง และสภาพแวดล้อมทางกายภาพต่างๆ เป็นต้น จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐ เอกชน แพลตฟอร์มต่างๆ และประชาสังคม ในการยกระดับการทำงานไปสู่การมีกลไกการขับเคลื่อน คือมีอนุกรรมการด้านการจัดการความปลอดภัยในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและไรเดอร์ ภายใต้ ศปถ.กทม. ทำให้เกิดการขับเคลื่อนประเด็นความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ การมีระบบข้อมูลที่สามารถสะท้อนความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มนี้ได้ การจัดให้มีการเรียนรู้เรื่องทักษะการขับขี่ที่ปลอดภัย รวมถึงการสื่อสารสาธารณะในการสื่อสารความเสี่ยง เผยแพร่ความรู้การขับขี่ที่ปลอดภัยและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์

นอกจากนี้ในงานยังมีการเสวนาความร่วมมือเพื่อสร้างการขับขี่ที่ปลอดภัยในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์ โดยทางนพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้มีการนำเสนอภาพรวมสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มรถจักรยานยนต์และไรเดอร์ และได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงบทบาทและแผนการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ไม่ว่าจะเป็น สสส. ศปถ.กทม. บริษัทเอสซีจีฯ บริษัทกลางฯ และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการฯ มีการเกาะติดและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างและไรเดอร์ต่อไป

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved