9 เดือนเซ่น 1,000 ศพ! ฝีมือนักขับขี่ฟันน้ำนม


6 ต.ค. 2565 45 แผนงาน : เด็กและเยาวชน


ที่มา : https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2518681

เป็นที่น่าเศร้าของสังคมไทย ต้องเจอเหตุการณ์ซ้ำรอย ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก กับคดีอุบัติเหตุบนท้องถนน และหลายครั้งหลายหน ผู้ก่อเหตุก็เป็นเพียง “เยาวชน” ผู้ต้องหาฟันน้ำนม ที่พ่อแม่ถอยรถยนต์ หรือ จักรยานยนต์ออกมาขับขี่

คราวนี้เป็นคราวเคราะห์ร้ายของ “ธนพล แก้วมูล” หรือ เต้ อายุ 24 ปี บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ เกียรตินิยม ม.เทคโนโลยีสุรนารี ที่กำลังมีอนาคตไกล ที่กำลังสานฝันตัวเองไกลถึง “ด็อกเตอร์” คนหนึ่งของเมืองไทย แต่ต้องมาจบชีวิต เพราะ เยาวชนวัย 15 ปี ดีกรี นักกีฬาเยาวชนทีมชาติ ขับรถหรู BMW ฝ่าไฟแดงพุ่งชน บริเวณสี่แยกไฟแดง ถนนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ประตู 1 ก่อนถึงประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา จนเสียชีวิต

ฝันร้ายของคนเป็นพ่อแม่ ของครอบครัว “แก้วมูล” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ต้องด่วนจากไปเพราะอุบัติเหตุ แม้ล่าสุด ตำรวจจะแจ้งข้อหากับเยาวชนผู้ขับขี่คนนี้แล้ว 4 ข้อหา ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจร, ขับรถไม่มีใบอนุญาต และขับรถไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น

สถิติอึ้ง! 9 เดือนเซ่น 1,053 ศพ! ฝีมือนักขับขี่ อายุไม่ถึง 18 ปี

จากข้อมูล ผู้มาใช้สิทธิประกันภัย พ.ร.บ.กับ บริษัทคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่า อุบัติเหตุจราจรจากรถเป็นผู้ขับขี่อายุน้อยกว่า 18 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มกราคม 2565 พบว่า อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ เสียชีวิต 940 ศพ บาดเจ็บ 91,280 คน สูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพ 95 คน รถยนต์ (อื่นๆ) เสียชีวิต 113 ศพ บาดเจ็บ 4,507 คน สูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพ 8 คน รวม เสียชีวิต 1,053 ศพ บาดเจ็บ 95,787 คน สูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพ 103 คน

ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าว ได้รวมผู้เสียชีวิตจากผู้ขับขี่เองและเหยื่อบนท้องถนนด้วย...

แนะครอบครัวผู้สูญเสีย ต้อง “ฟ้องแพ่ง-อาญา” พร้อมกัน เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินคดีกับพ่อแม่ 

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อหาที่พนักงานสอบสวนตั้งกับตัวผู้กระทำผิด จะไม่มีการกล่าวถึง “พ่อแม่” เลย หากไปเทียบกับ พ.ร.บ.จราจรฯ ทางตำรวจมีการปรับเพื่อแก้ปัญหาเรื่อง “เด็กแว้น” เด็กเหล่านี้ไปขับรถ จยย. ชนคนอื่น พ่อแม่จะมีความผิดไปด้วย เช่น การทำทัณฑ์บน ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้น ถือเป็น “ช่องว่าง” ที่มองเห็น กับกรณี เด็กอายุ 15 ปี ขับรถชนคนอื่นจนเสียชีวิต

อีก 1 ประเด็นที่สำคัญคือ เวลามีเหตุลักษณะนี้ ตำรวจจะบอกให้ญาติเหยื่อไปฟ้องแพ่ง แต่ปัญหาของการ “ฟ้องแพ่ง” จะมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ยาวนาน นอกจากนี้ ยังใช้ “เทคนิค” ทางกฎหมาย คือ...เมื่อจำเลย ให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนจะสำนวนไปอัยการเพื่อฟ้องศาลทันที

“สิ่งที่เกิดขึ้น เราต้องทำให้สังคมรับรู้ว่า การที่พ่อแม่ปล่อยให้ลูก ออกมาขับรถยนต์ หรือ จักรยานยนต์ มาชนคนตาย เราต้องเอาผิดพ่อแม่ และต้องฟ้องแพ่งร่วมไปกับคดีอาญาไปด้วย”

ข้อสังเกตสำคัญคือ... เวลาเกิดเหตุทีไร “พนักงานสอบสวน” มักไม่เอาผิดกับพ่อแม่ เฉกเช่นเดียวกับเคส “หมอกระต่าย” ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นกับเยาวชนอายุ 15 ปี ก็ตั้งข้อหาคล้ายกัน คือ ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ฝ่าสัญญาณไฟจราจร และ ไม่มีใบขับขี่ ซึ่งข้อหาที่ 2 และ 3 มีโทษปรับเท่านั้น... ซึ่งค่าปรับ รวมกันแค่ 3,000 บาท (ฝ่าสัญญาณไฟ ปรับ 2,000 บาท ไม่มีใบขับขี่ ปรับ 1,000 บาท)

ข้อหาที่หนักที่สุด คือ มาตรา 291 แต่พอเห็นว่าเป็น “เยาวชน” ศาลจะเมตตา ให้ “รอลงอาญา”

วิธีคำนวณการเยียวยา บางเคสในอดีต ได้แค่กระดาษแผ่นเดียว

หมอธนะพงศ์ กล่าวถึงการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต ว่า ส่วนมากจะยึดตามหลักการ “ฐานานุรูป” (ตามสมควรแก่ฐานะ ตำแหน่ง หรือสถานการณ์) โดยผู้กระทำผิดต้องเยียวยา ให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย เพื่อตอบคำถามสังคมให้ได้ เฉกเช่นเดียวกับเคส “หมอกระต่าย” ที่มีการเรียกค่าเสียหาย 72 ล้านบาท

เพราะจากการคำนวณของทีมทนาย “หมอกระต่าย” หากคุณหมอยังมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 60 ปี จะหารายได้เท่านี้...

ซึ่งกรณี “น้องเต้” ความจริงตั้งใจจะไปเรียนต่อปริญญาโท-ปริญญาเอก อาจจะกลับมาทำงานและได้เงินสูง แต่หากนับเฉพาะปริญญาตรี และทำงานถึง 60 ปี เงินเดือนวิศวกร เรตอยู่ที่ 30,000 บาท หากทำงานถึง อายุ 60 ปี จะได้เงินเท่าไร.. (น้องเต้ อายุ 24 ปี มีอายุงาน 36 ปี) ซึ่งก็คิดเป็นเงินหลายล้านบาท ทั้งนี้ การคำนวณขึ้นอยู่กับอาชีพด้วย เพราะบางอาชีพ อายุงานอาจจะไม่ถึงอายุ 60 ปีก็ได้

“ที่ผ่านมา หลายๆ เคส ในอดีต การเยียวยามักทำได้ยาก บางเคส แม้ศาลจะตัดสินไปแล้วว่าให้เยียวยา ถึงฎีกา และศาลสั่งต้องจ่าย แต่... ทาง “จำเลย” ก็มักอ้างว่า ไม่มีเงิน บางเคสครอบครัวเหยื่อไม่ได้อะไรเลย นอกจาก กระดาษที่ระบุคำพิพากษา..."

สิ่งที่เกิดขึ้น มักจะมาตกม้าตายในกระบวนการตามสืบทรัพย์บังคับคดี เมื่อถึงฎีกา ศาลมีคำสั่งให้เยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่จำเลยก็บอกว่าไม่มีเงินหรือทรัพย์สินที่จะจ่าย ยกเว้นบางกรณีที่พลังโซเชียลฯ ได้ช่วยกันสืบทรัพย์ด้วยตัวเอง จนบางเคสต้องจ่าย

“กรณี น้องเต้ ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะเป็นคนที่เรียนเก่ง และกำลังจะไปเรียนต่อจนถึงชั้นสูงสุด เรียกว่า ประเทศชาติก็เสียด็อกเตอร์ไปหนึ่งคน”

เมื่อถามว่า สิ่งที่ทำได้ในเวลานี้คืออะไร หมอธนะพงศ์ บอกว่า ในเชิงป้องกัน เราควรจะมีระบบการจัดการที่แข็งแรงกว่านี้ เราไม่ควรปล่อยให้คนที่ “ไม่พร้อม” อยู่บนถนน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือ จักรยานยนต์ จะว่าไป อายุ 15 ปีไม่ควรอนุญาตด้วยซ้ำ ควรที่จะอายุ 18 ปี

ญี่ปุ่น กฎหมายเอาผิดรุนแรง ไม่มีใบขับขี่ ฝ่าไฟแดง ติดคุก 

ยกตัวอย่าง ในต่างประเทศ ญี่ปุ่น จะแบ่งประเภท “การขับขี่อันตราย” 4 ข้อ
1.ไม่มีใบขับขี่
2.เมาแล้วขับ
3.ฝ่าสัญญาณไฟจราจร
4.ขับรถจี้คันหน้า

ซึ่งการขับขี่รถอันตราย การลงโทษ จะไม่ใช่ลหุโทษ การลงโทษในญี่ปุ่น ต้องส่งฟ้องศาลเท่านั้น หากเมาขับชนคนตาย อาจติดคุก 15-20 ปี ถ้าไม่มีใบขับขี่ รวมกับ ฝ่าสัญญาณไฟจราจร แค่ 2 ข้อหานี้ก็อาจจะติดคุก 15 ปีแล้ว

ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวว่า ที่น่าสังเกต คือ 4 ข้อ ในประเทศไทย กลับเป็นเรื่อง “ชิลๆ” แต่ในประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นเรื่องอันตราย ถือเป็นเรื่องไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม และ บทลงโทษรุนแรง ซึ่งหากเป็นเยาวชนก็อาจจะถูกลงโทษเช่นกัน อาจจะเข้าสถานพินิจ และหากโตเป็นผู้ใหญ่ก็มาติดคุกผู้ใหญ่ต่อ..

แต่ในไทย ว่า เหตุลักษณะนี้ เวลาพิจารณาคดี จะเข้าลักษณะ “ประมาท” เป็นเหมือนตะกร้าใบใหญ่ ตามมาตรา 291 หากมีคนเสียชีวิต จะมองว่าเป็นเรื่องประมาท พอกลายเป็นเรื่อง “ประมาท” ก็มักจะมีบทลงโทษ ให้รอลงอาญา


© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved