วิจัยพบขับรถเร็ว เสี่ยงตายเพิ่ม แรงปะทะสูง ระยะเบรกไกลขึ้น


26 พ.ย. 2561 116 แผนงาน : รถโดยสารสาธารณะปลอดภัย


วิจัยพบขับรถเร็วเสี่ยงตายเพิ่ม แรงปะทะสูง ระยะเบรกไกลขึ้น แนะมาตรการปรับลดความเร็วเขตเมือง พร้อมกำหนดนิยามให้ชัดหมายถึงถนนประเภทใด


       นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัย ทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีดัชนีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงเทศกาลมีผู้เสียชีวิต 11 คนต่อการเกิดอุบัติเหตุ 100 ครั้ง ถือว่าอยู่ในระดับสูง ขณะที่หลายประเทศตั้งเป้าผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์ด้วยการใช้มาตรการต่าง ๆ ทั้งนี้ สาเหตุความรุนแรงมาจากความเร็ว การไม่ใช่อุปกรณ์ป้องกัน และสภาพถนน โดยพบว่าความเร็วเป็นสาเหตุร้อยละ 10 - 25 สภาพถนนทางหลวงร้อยละ 75 ทั้งนี้ สภาพถนนในเขตเมืองนั้นมีการใช้ร่วมกันระหว่างคนเดิน คนปั่นจักรยาน และขี่จักรยานยนต์ ซึ่งพบว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตสูง ทำให้มีการเสนอในงานประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 12 เพื่อให้เกิดการปรับลดอัตราความเร็วในเขตเมืองลง จากกลุ่มผู้ใช้รถจักรยาน
       
       นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า จากการศึกษาทำให้พบว่า ยิ่งผู้ขับขี่ใช้ความเร็วยิ่งอันตราย ความเร็วเกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าชนคนจะมีอัตราตายเกินร้อยละ 80 เมื่อความเร็วเพิ่มขึ้น 2 เท่า แรงปะทะจะเพิ่มขึ้น 4 เท่า และเมื่อความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเท่ากับตกตึก 5 ชั้น ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเท่ากับตกตึก 8 ชั้น ซึ่งพบว่าความเร็วยิ่งเพิ่มมากขึ้น ยังทำให้เพิ่มระยะการหยุดออกไป โดยหากใช้ความเร็ว 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะใช้ระยะหยุด 27 เมตร หากใช้ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะใช้ระยะหยุดที่ 57 เมตร และจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15 - 20 ถ้าสภาพถนนลื่น นอกจากนี้ พบว่าเมื่อผู้ขับยิ่งใช้ความเร็วเพิ่มขึ้นมุมในการมองเห็นของผู้ขับขี่จะยิ่งแคบลง จากปกติที่คนเราจะสามารถมองได้ 180 องศา ซึ่งเป็นผลให้ผู้ขับขี่มองไม่เห็นคนเดินถนน คนปั่นรถจักรยาน หรือรถจักรยานยนต์
       
       นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า มูลนิธิไทยโรดส์ ยังได้สำรวจพบว่า ผู้ใช้รถ 1 ใน 3 มีทัศนคติว่าขับรถเร็วไม่เป็นไรถ้าระวัง แต่ความจริงแล้วการใช้ความเร็วทำให้ความสามารถในการควบคุมรถต่ำลงทั้งประสิทธิภาพของคนและรถ ซึ่งปัจจุบันเขตเมืองของกำหนดความเร็วขั้นต่ำที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำเป็นต้องปรับลดลงเหลือ 40 - 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามประเภทถนน รวมทั้งกำหนดนิยามให้ชัดเจนว่าเขตเมืองหมายความถึงถนนประเภทใดบ้าง เช่น ถนนวิภาวดี ช่องกลางนับเป็นช่องทางด่วน แต่คู่ขนานต้องใช้ความเร็วเขตเมือง เป็นต้น และก่อนที่จะปรับแก้กฏหมาย อาจจะสามารถเปลี่ยนความเร็วในเขตโรงเรียน ตลาด ชุมชน ก่อน แล้วค่อย ๆ ขยายออกไปเพื่อให้ประชาชนเข้าใจและปฏิบัติ ที่สำคัญคือ แต่ละท้องถิ่นสามารถทำป้ายสัญลักษณ์บอกระดับความเร็วได้เลย หรือการทำสีบนถนนเพื่อแยกระดับการใช้ความเร็วให้

ที่มา : 


© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved