กฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์ของประเทศไทย


7 ธ.ค. 2561 510 แผนงาน : เด็กและเยาวชน


รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีจำนวนมากที่สุด คือร้อยละ 67.7 ของจำนวนรถทั้งหมดของประเทศ และเนื่องด้วยลักษณะทางกายภาพทำให้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีจำนวนผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารบาดเจ็บและตายในสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางด้วยวิธีการอื่น ดังนั้นมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จึงได้จัดทำ โครงการ “การปฏิบัติงานด้านวิชาการเพื่อศึกษากฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์ของประเทศไทย โดยมอบหมายให้คณะผู้วิจัยซึ่งมี นายอายุวัฒน์ จิตประเสริฐ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 7 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นหัวหน้าคณะวิจัย เพื่อรวบรวมกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นโยบายหรือมาตรการของรัฐที่ใช้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเมินประสิทธิผลจากการบังคับกฎหมาย นโยบายหรือมาตรการต่างๆ ในการป้องกันอุบัติเหตุ และเงื่อนไขของการบังคับใช้กฎหมาย และจัดทำข้อเสนอเพื่อการกำหนดกฎหมายหรือมาตรการต่างๆ เพื่อการลดปัญหาอุบัติเหตุจราจรกรณีรถจักรยานยนต์ในระยะสั้นและระยะยาว โดยบทความนี้จะคัดสรรและสรุปเฉพาะในส่วนมาตรการ กฎหมาย และข้อเสนอที่เกี่ยวด้วยรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยเพียง 2 ส่วนเท่านั้น ได้แก่ มาตรการในการลดและป้องกันอุบัติเหตุทางถนน และ กฎหมายที่จำเป็นเพื่อการป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุ 1. มาตรการในการลดและป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลดอุบัติเหตุได้เสนอมาตรการที่มีผลต่อการควบคุมและป้องกันอุบัติเหตุจราจรเป็น 3 กลุ่ม ตามปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุจราจร คือ 1. มาตรการที่มีประสิทธิผลกับผู้ใช้ถนน ประกอบด้วย การควบคุมการขับขี่ให้ปลอดภัย การควบคุมการจราจรบนทางแยก และการลดความรุนแรงของการบาดเจ็บ ด้วยการคาดเข็มขัดนิรภัย และสวมหมวกนิรภัย 2. มาตรการความปลอดภัยของยานยนต์ และ 3. มาตรการการวางแผนและออกแบบถนนและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กฎหมายที่สำคัญและเกี่ยวข้อง 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ในปัจจุบันหน่วยงานหลักที่ดำเนินการด้านนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุของประเทศไทย ได้แก่ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเป็นหน่วยขับเคลื่อนโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยดำเนินการบูรณาการงานให้เป็นบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักของการป้องกันและลดอุบัติเหตุการจราจรไว้ 5 ประการ คือ 1) ยุทธศาสตร์การบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement) มุ่งเน้นการปฏิบัติตามหลักแห่งความปลอดภัย 3 ม. (หมวกกันน็อค เมาไม่ขับ มอเตอร์ไซค์) 2 ข. (เข็มขัดนิรภัย ใบขับขี่) 1 ร. (การไม่ขับรถเร็ว) 2) ยุทธศาสตร์การปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างทางวิศวกรรม (Engineering) โดยเน้นที่ระบบวิศวกรรมทางถนน ป้ายสัญญาณ แสงสว่างและทัศนวิสัยในการมอง หรืออุปกรณ์ช่วยในการลดความเร็ว เป็นต้น 3) ยุทธศาสตร์การรณรงค์และให้ความรู้ในการลดการเกิดอุบัติเหตุ (Education) 4) ยุทธศาสตร์การรับส่งผู้บาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุ (Emergency Medical System) ลดความสูญเสียหลังการเกิดเหตุ 5) ยุทธศาสตร์การประเมินผล ติดตามและการบริหารจัดการ (Evaluation)ทั้งนี้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนยังได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมาย ผลักดันนโยบาย มาตรการ แนวทางปฏิบัติให้มีความเข้มงวดและยั่งยืน เช่น การเพิ่มโทษผู้ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ติดตัว การเพิ่มโทษผู้กระทำผิดกฎจราจรหลายครั้ง การเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีมาตรฐานเดียวกับสากล ส่งเสริมให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนในการจัดตั้งจุดตรวจ กำหนดให้มีการจัดตั้งจุดตรวจเข้มงวดมาตรการ 3 ม 2ข 1ร ปรับปรุงแผนการตั้งจุดตรวจให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุในพื้นที่ เข้มงวดการตรวจจับความเร็วของรถจักรยานยนต์ ผลักดันมาตรการลงโทษผู้ที่ขับขี่ในขณะเมาสุรา ให้ผู้กระทำผิดกฎจราจรต้องชดใช้เงินหรือทรัพย์สินแก่เหยื่อ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยเห็นว่า มาตรการของรัฐที่ผ่านมามีผลต่อการลดการบาดเจ็บรุนแรงหรือกู้ชีพได้มากกว่าการลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมาก อีกทั้งยังไม่มีผลสัมฤทธิ์ในการลดอุบัติเหตุหรือการตาย สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังก็คือ มาตรการการป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุ 2. กฎหมายที่จำเป็นเพื่อการป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ มาตรการทางกฎหมายที่ควบคุมและมุ่งปรับพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยส่วนที่มีสาระสำคัญในการควบคุมคนและรถจักรยานยนต์ คือบทบัญญัติว่าด้วยใบอนุญาตขับรถ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอและออกใบอนุญาตขับรถ, บทบัญญัติว่าด้วยการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์สาธารณะ, บทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.รถยนต์, บทบัญญัติว่าด้วยการใช้รถ การใช้ไฟหรือเสียงสัญญาณของรถ, บทบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติตามสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร, บทบัญญัติว่าด้วยการใช้ทางเดินรถ, ข้อกำหนดเกี่ยวกับความเร็วของรถ, ข้อกำหนดเกี่ยวกับการขับรถผ่านทางร่วม ทางแยกหรือวงเวียน, บทสันนิษฐานความผิดกรณีอุบัติเหตุ, ข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยใน พ.ร.บ.จราจรทางบก ซึ่งกำหนดให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และคนโดยสารรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวก, บทบัญญัติว่าด้วยอำนาจของเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการสั่งให้หยุดรถเพื่อตรวจความสามารถในการขับขี่ และบทกำหนดโทษ อย่างไรก็ตาม โดยที่การควบคุมพฤติกรรมการใช้รถและการขับขี่รถจักรยานยนต์มีโทษปรับและจำคุก แต่ความผิดทางแพ่งภาระการพิสูจน์เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายยังใช้หลักตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 437 ที่ภาระการพิสูจน์เป็นของผู้เสียหาย เพื่อมุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถ ผู้วิจัยจึงเสนอให้ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะผลักให้ผู้ขับขี่ต้องรับภาระในการพิสูจน์ความผิดแทนผู้เสียหาย นอกเหนือจากการรับโทษทางอาญา มาตรการทางกฎหมายในการกำหนดมาตรฐานองค์ประกอบ อุปกรณ์และส่วนควบของรถจักรยานยนต์ มีกฎหมายเกี่ยวข้องที่สำคัญคือ กฎกระทรวงฉบับที่ 22 กำหนดลักษณะหรือคุณสมบัติของเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถจักรยานยนต์, กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 กำหนดรายการตรวจสภาพรถ 9 รายการ, กฎกระทรวงฉบับที่ 41 กำหนดให้ระบบสตาร์ตเครื่องกำเนิดพลังงานพร้อมสวิตช์ที่เมื่อเครื่องกำเนิดพลังงานทำงาน โคมไฟแสงพุ่งไกลหรือโคมไฟแสงพุ่งต่ำ ต้องให้แสงสว่างพร้อมกับโคมไฟท้าย กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหมวกนิรภัยต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งนี้คณะผู้วิจัยได้เสนอให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับรถจักรยานยนต์ คือ กำหนดให้อุตสาหกรรมผลิตรถจักรยานยนต์ เครื่องยนต์ เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถจักรยานยนต์ทุกรายการต้องเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม, ทบทวนและออกกฎหมายเพื่อกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการตรวจสภาพรถใหม่ และการทำระบบประกันภัย เพื่อให้สามารถเป็นสิ่งจูงใจในการขับขี่อย่างปลอดภัยและลดค่าใช้จ่าย, ควบคุมการเปลี่ยนแปลงตัวรถจักรยานยนต์หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของรถจักรยานยนต์โดยการกำหนดคำนิยามให้ชัดเจน, จัดทำบัญชีลักษณะของส่วนควบหรือเครื่องอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน, กำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีส่วนในการดัดแปลงสภาพรถเป็นการกระทำความผิดอาญาขึ้นมาอีกความผิดหนึ่ง, ให้อำนาจเจ้าพนักงานตรวจสภาพสถานประกอบการได้ มาตรการทางกฎหมายในการกำหนดปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมหรือสภาพทาง ได้แก่ การวางผังเมือง มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ. 2518 และการสร้างและปรับปรุงทางหรือถนนตามหลักวิศวกรรมจราจร และจัดให้มีสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved