“เมา+ขับ = จับ+ขัง” ความเป็นไปได้เมื่อ ศาล “เอาจริง”  


19 พ.ย. 2561 2453 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


“เมา+ขับ = จับ+ขัง” ความเป็นไปได้เมื่อ ศาล “เอาจริง”

“เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงมาก จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ประชาชนโดยรวม จึงไม่เห็นควรให้รอการลงโทษ”

          จากบางส่วนของคำพิพากษา ศาลแขวงดอนเมือง

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2558

จากคำพิพากษาศาลแขวงดอนเมือง กรณีข้าราชการขับขี่ยานพาหนะในขณะเมาสุรา ในเขตท้องที่ สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ให้จำคุกจำเลยทันทีโดยไม่รอลงอาญา พร้อมเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ จนทำให้เกิดกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงกรณีดังกล่าว แม้ผู้กระทำความผิดจะไม่ได้ขับขี่จนเกิดอุบัติเหตุ แต่เพราะตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึง 396 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มากกว่ากฎหมายกำหนดถึง 8 เท่า(พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ต้องไม่สูงกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) จึงเป็นที่มาของการกำหนดโทษดังกล่าว จะเห็นได้ว่าแม้จะยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายในช่วงที่ผ่านมา แต่ผู้พิพากษาก็สามารถใช้ดุลยพินิจที่รอบด้านให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาที่เหมาะสมแก่ความผิดของผู้กระทำได้

และจากความต่อเนื่องการรณรงค์ของภาคสังคม ประกอบกับการยื่นข้อเสนอต่อประธานศาลฎีกา เนื่องในวันเหยื่อโลกเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2557 โดยศูนย์วิชาการเพื่อปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย และภาคีเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ มูลนิธิเมาไม่ขับ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินลงโทษสูงสุด กรณีเมาขับ ชนคนตาย นำไปสู่การจัด โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "เมาแล้วขับ : อุบัติเหตุ ประมาท หรือ เจตนา" โดยสำนักประธานศาลฎีกา ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย และมูลนิธิเมาไม่ขับ นักวิชาการ และข้าราชการตุลาการ ขึ้นอย่างต่อเนื่องกันถึง 3 ครั้ง

โดยบทบาทสำคัญของศวปถ.ในการสัมมนานี้คือ การร่วมเป็นวิทยากรอภิปรายโดยนพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศวปถ. ร่วมกับ รศ.ดร.พิเชษฐ เมาลานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยญี่ปุ่นร่วมสมัย และอดีตคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลทางวิชาการทั้งจากงานวิจัยและรายงานสถานการณ์ให้แก่ข้าราชการศาลยุติธรรม เพื่อให้ตระหนักถึงความสูญเสียอันเนื่องมาจากสาเหตุเมาแล้วขับ ยกตัวอย่างหรือกรณีศึกษาในต่างประเทศเพื่อเปรียบเทียบการบังคับใช้กฎหมาย และทัศนคติต่อกรณีเมาแล้วขับจากประมาทเป็นเจตนา การใช้ดุลยพินิจโดยรอบและต้องพิจารณาถึงผลกระทบของคำพิพากษาทั้ง 3 ด้านได้แก่ ผู้กระทำความผิด เหยื่อ และสังคม จนอาจนำไปสู่การปรับยี่ต๊อกของศาลหรือแก้กฎหมายในกรณีเมาแล้วขับให้เหมาะสม

ผลจากการสัมมนาทั้ง 3 ครั้ง พบว่าตุลาการศาลยุติธรรมให้ความสนใจและความสำคัญกับกรณีเมาแล้วขับอย่างมาก เห็นได้จากการเกิดความต่อเนื่องของความร่วมมือระหว่างตุลาการศาลยุติธรรม ศวปถ. และภาคีเครือข่าย นำมาซึ่งโครงการสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลและความรู้แก่ผู้พิพากษาศาลภาคต่างๆ โดยต้องการยกระดับให้ผู้พิพากษาใช้ดุลยพินิจในการกำหนดโทษในกรณีเมาแล้วขับได้เหมาะสม นอกจากนั้นยังมีความพยายามจากสำนักประธานศาลฎีกาในการแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยการยื่นผ่านสำนักงานศาลยุติธรรม

เมื่อศาลเอาจริง เริ่มปรับและเปลี่ยนทั้งทัศนคติตลอดจนกระบวนการแนวทางการกำหนดบทลงโทษ โดยใช้ดุลยพินิจพิจารณาอย่างรอบด้าน รวมถึงมุ่งอำนวยความยุติธรรมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จะมีหน่วยงานใดทั้งในกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการอื่นๆ พร้อมเดินหน้ากับศาลหรือไม่

ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)

ที่มาของภาพ: 
http://www.bizpacreview.com/2015/07/10/florida-five-fla-supreme-court-tosses-congressional- maps-upholds-stand-your-ground-law-222979

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved