ก่อร่างเป็น ‘อีกี้’ สำรวจแง่มุมของวัฒนธรรมสก๊อยผ่านงานวิชาการ
เมื่อได้ยินคำว่า “สก๊อย” เรามักเห็นภาพในหัวที่ค่อนข้างเด่นชัด
การแต่งตัวและการแต่งหน้าที่เป็นเอกลักษณ์ ภาษาไทยแบบที่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจ และไลฟ์สไตล์ที่หวือหวาจากผลพวงของการอยู่ร่วมวัฒนธรรมย่อยกับเด็กแว้น แต่ภาพจำและความรู้สึก ‘รู้จัก’ เหล่านั้นมักมาจากการมองผ่านสื่อ จากการลดทอนรายละเอียด หรือจากเสี้ยววินาทีที่เราเห็นและได้ยินเสียงของพวกเขาบนท้องถนน
ความห่างไกลในสถานะทางสังคมและฐานะ การนำเสนอผ่านสื่อที่ถูกลดทอน ความรำคาญใจหรือความอันตรายบนท้องถนนที่พวกเขาอาจก่อให้เกิด เหล่านี้ได้นำไปสู่ภาพจำในแง่ลบ และขณะที่การนำเสนอและการจำวัฒนธรรมย่อยหนึ่งๆ รูปแบบนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่อาจเรียกได้ว่า จริงไม่ทั้งหมด รายละเอียดและแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเล็กน้อยขนาดไหน ย่อมมีส่วนประกอบร่างวัฒนธรรมวัฒนธรรมหนึ่งขึ้นทั้งสิ้น และรวมไปถึงวัฒนธรรมที่มองภายนอกจะดูฉาบฉวยเช่นนี้ก็ตาม
สังคม สภาพแวดล้อม สถานะทางสังคม สถาบันครอบครัว ระบบทุนนิยม ค่านิยมทางเพศ และอีกมากมายเกินกว่าจะรวบรวมออกมาได้นั้น มีส่วนในการทำให้เกิด ‘สก๊อย’ ขึ้นทั้งสิ้น ฉะนั้นเพื่อความเข้าใจมากขึ้น เราลองไปสำรวจแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสก๊อยผ่านการสังเกตและการสัมภาษณ์ จากกลุ่มหรือผู้คนที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมย่อยดังกล่าว ผ่านงานวิชาการจำนวน 3 ชิ้น เพื่อจะมองภาพของพวกเขาให้ ‘จริง’ อย่างรอบด้านมากขึ้น
สก๊อย กับการเลื่อนขั้นทางสังคมใต้ระบบทุนนิยมและการแหกกฎเพศภาวะ
เบื้องหลังเสื้อผ้าและการแต่งหน้าของสาวสก๊อย ย่อมมีบุคคลและเหตุผลที่พวกเขาเลือกเดินในเส้นทางที่เลือก งานวิจัย ความปรารถนาใหม่ของวัยรุ่นสก๊อยในยุคทุนนิยมและความทันสมัยลื่นไหล โดย ณัฐมน สะเภาคำ มองการเป็นสก๊อยว่า เกิดขึ้นบนจุดตัดระหว่างการเลื่อนสถานภาพชนชั้นระดับล่างขึ้นไปตามการจำแนกแบ่งกลุ่มผู้คนตามกลไกการตลาด และคุณภาพของปัจเจกในการเป็นส่วนหนึ่งของทุนสมัยใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยี กับความต้องการแหกกฎเพศภาวะที่โดนคาดหวังจากครอบครัว โรงเรียน และสื่อ
งานวิจัยชิ้นนี้เลือกสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 6 ราย จากอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ที่มีประสบการณ์การเป็นสก๊อยแตกต่างกันออกไป ซึ่งแสดงถึงความหลากหลายในแหล่งกำเนิดของสาวสก๊อยที่ไม่ได้มีมิติเดียว หากแต่เป็นวิธีที่ระบบทุน เทคโนโลยี การเติบโตของเมือง และค่านิยมของสังคมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและเพศได้เข้ามามีผลกระทบต่อชีวิตและการเลือกเดินของพวกเธอมากกว่า
“ภ๊ษ๊สก๊อยป์” ภาษาเฉพาะกลุ่ม มีหลักการและสร้างอัตลักษณ์
สิ่งแรกที่เรานึกถึงเมื่อพูดถึง “ภาษาสก๊อย” คือ ภาษาวิบัติ และเป็นภาษาที่ใช้เอาสะดวก แต่ในบทความวิชาการ ภ๊ษ๊สก๊อยป์” (ภาษาสก๊อย): วัฒนธรรมอุบัติการณ์ โดย ชวิตรา ตันติมาลา เขาสังเกตและวิเคราะห์ว่า ภาษาสก๊อยคือ การสร้างอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มด้วยการเปลี่ยนแปลงภาษา ผ่านการใช้ตัวอักษรที่มักนิยมนำไปใช้ในภาษาไทยมาใช้ หรือการกดชิฟท์ (Shift) ในจุดต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละกลุ่มก้อนมักจะมีรายละเอียดการใช้ภาษาที่แตกต่างออกไปจากการสืบทอดและสอนกันเฉพาะในกลุ่มนั้นๆ
ในงานวิจัยยังมีการสังเกตการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทสนทนาระหว่างคนที่ใช้กับไม่ใช้ภาษาสก๊อยนั่นคือ ภาษาสก๊อยมักไม่มีคำหยาบเป็นส่วนประกอบเมื่อแปลออกมา “อีกทั้งบางส่วนยังบ่งบอกถึงเจตคติแง่บวก” เขากล่าวในบทคัดย่อ แต่ในทางกลับกัน เสียงที่ตอบโต้ข้อความเหล่านั้นจากกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจภาษารูปแบบดังกล่าวมักจะเป็นถ้อยคำหยาบคาย ซึ่งผู้วิจัยเชื่อว่าสิ่งนี้เกิดจากทัศนคติแง่ลบที่ผู้คนมีต่อวัฒนธรรมย่อยของเด็กแว้นและสก๊อย
สังคมและสภาพแวดล้อมอาจนำไปสู่การเข้าวงการ
บ่อยครั้งที่เราได้รับรู้เกี่ยวกับสก๊อยผ่านสื่อหรือเสียงท่อมอเตอร์ไซค์เท่านั้น แต่ในงานวิจัย สาเหตุและพฤติกรรมการกระทําผิดของเด็กและเยาวชน: กรณีศึกษา สาเหตุและพฤติกรรมการกระทําผิดของเด็กสก๊อย โดย ญาณิศชา สงค์อยู่ พาเราไปสัมภาษณ์เชิงลึกจากประเด็นดังกล่าวกับกลุ่มตัวอย่าง 10 ราย ตั้งแต่เด็กและเยาวชน ผู้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมย่อย ผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยพบว่าปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเข้าวงการคือ สังคมโดยรอบ ครอบครัว ซึ่งเป็นความต้องการการยอมรับที่ครอบครัวไม่สามารถให้ได้ นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ตรงของ ‘กิจกรรม’ ที่พวกเขาทำ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งรถ ยาเสพติด การลักขโมย ฯลฯ
ในขณะที่เรามักพบเห็นปลายทางของพฤติกรรมเด็กแว้นและสก๊อย แต่ต้นสายของมันมักกำเนิดขึ้นมาจากที่มาที่หลากหลาย ไม่ใช่เพียงเกิดจากนิสัยส่วนตัว หรือความต้องการที่จะสร้างความรำคาญหรืออันตรายให้กับผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม เหตุผลดังกล่าวไม่สามารถใช้เป็นข้อแก้ตัวสำหรับการมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อตัวเองและผู้อื่น แต่การพยายามทำความเข้าใจต้นเหตุของพฤติกรรมนั้นๆ สามารถนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขที่ยั่งยืนกว่าการรับรู้และพยายามแก้ไขเพียงที่ปลายเหตุ