กิจกรรมรณรงค์การป้องกันอุบัติเหตุชนท้ายรถบรรทุก ระดับพื้นที่  


31 มี.ค. 2566 4780 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์การป้องกันอุบัติเหตุชนท้ายรถบรรทุกระดับพื้นที่ ณ จังหวัดนนทบุรี

วันที่ 30 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมพระนั่งเกล้า ชั้น 3 อาคาร 3 ชั้น ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ โรงเรียนทักษะพิพัฒน์ เอสซีจี ภาคธุรกิจ ภาคีเครือข่าย และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ภายใต้คณะทำงานรณรงค์การป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากรถบรรทุกด้วยการติดแถบสะท้อนแสง จัดกิจกรรมรณรงค์การป้องกันอุบัติเหตุชนท้ายรถบรรทุก ระดับพื้นที่ จ.นนทบุรี ภายใต้ธีม “ติดแถบสะท้อนแสง เห็นแจ้งระยะไกล จอดรถที่ปลอดภัย ใส่ใจเพื่อนร่วมทาง #ความดีที่คุณทำได้” โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา เป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษ

จากฐานข้อมูลอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม บนถนนทางหลวง ทางหลวงชนบท และทางด่วน ในช่วงปี พ.ศ. 2562-2565 พบแต่ละปีเกิดอุบัติเหตุการชนท้าย จำนวนมากเฉลี่ยถึง 6,225 ครั้ง/ปี โดยคิดเป็น 1/3 ของการเกิดเหตุบนถนนของกระทรวงคมนาคมทั้งหมด ซึ่งเป็นอุบัติเหตุลำดับที่ 2 รองจากอุบัติเหตุรูปแบบการพลิกคว่ำและตกถนนทางตรง และเมื่อพิจารณาเฉพาะกรณีอุบัติเหตุการชนท้ายรถบรรทุกที่จอดข้างทาง คิดเป็นร้อยละ 61.0 ของอุบัติเหตุการชนท้ายบนถนนของกระทรวงคมนาคมทั้งหมด ส่วนตำแหน่งจุดเกิดอุบัติเหตุการชนท้าย พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.0 จะเกิดในช่วงทางตรง และเกินครึ่งจะเกิดในช่วงเวลากลางคืน ทั้งนี้ เหยื่อผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุชนท้าย ส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ รองลงมา คือ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคล/รถยนต์นั่งสาธารณะ และกลุ่มผู้ใช้รถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียมีผู้เสียชีวิต เฉลี่ยถึง 978 ราย/ปี และมีผู้บาดเจ็บ เฉลี่ยถึง 5,508 ราย/ปี

คณะทำงานรณรงค์การป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากรถบรรทุกด้วยการติดแถบสะท้อนแสง จึงได้เล็งเห็นความสำคัญและเน้นย้ำถึงแนวทางการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุการชนท้าย และการแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดข้องในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ประสบอุบัติเหตุ โดยบูรณาการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจุดมุ่งหมายของกิจกรรม 3 ด้านหลัก คือ

1. งานด้านยานพาหนะปลอดภัย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเชิงป้องกัน (Active Safety) การเพิ่มการมองเห็น และการติดตั้งแถบสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงที่ติดท้ายรถบรรทุก ในระยะเร่งด่วน และสำหรับแผนการขับเคลื่อนการในระยะกลางและระยะยาว จะมุ่งเน้นงานปรับปรุงมาตรฐานของตัวกันชนท้ายกันมุด (Underride Guard) ที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มียอดการเสียชีวิตมากที่สุด

2. งานด้านกายภาพของถนนที่ปลอดภัย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาด้านกายภาพถนน เกิดแผนงานการกำหนดและก่อสร้างจุดจอดรถบรรทุกแบบถาวร (Truck Rest Area) ที่มีความปลอดภัย และจุดจอดรถฉุกเฉิน (Emergency parking) บริเวณไหล่ทาง เป็นระยะๆ โดยเฉพาะบนถนนทางหลวงสายสำคัญ และกลุ่มพื้นที่ที่มีกิจกรรมการขนส่งสินค้าโลจิสติกส์สูง

3. งานด้านบุคคลและการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ โดยด้านบุคคล ต้องมุ่งเน้นเพิ่มการเรียนรู้-คาดการณ์ และทักษะเชิงป้องกันสำคัญ (3 มอง 2 ปฏิบัติ) การตระหนักเรื่องการพักผ่อน การป้องกันความอ่อนล้าและการหลับในของผู้ขับขี่ และด้านการบังคับใช้กฎหมาย มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดเครื่องมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การออกประกาศราชกิจจานุเบกษา ควบคุมจุดจอดรถที่เหมาะสมต่อไป

โอกาสนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้ร่วมจัดกิจกรรมการติดแถบสติ๊กเกอร์ท้ายรถบรรทุก ภายใต้ธีม “ความดีที่คุณทำได้” และมีบูธกิจกรรมให้ความรู้ประชาชน เรื่อง มาตรฐานแถบสติ๊กเกอร์ติดท้ายรถบรรทุก UNR104 เรื่องการมองเห็น ระยะหยุดรถปลอดภัย เรื่องจุดจอดรถบรรทุก และหลักปฏิบัติ “3 มอง 2 ปฏิบัติ”

ที่มา: Facebook วุฒิสภา

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved