นักวิชาการชี้แก้อุบัติเหตุ ‘ทางม้าลาย’ ต้องทำเป็น ‘แพ็กเกจ’  


26 ม.ค. 2566 4301 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


แก้อุบัติเหตุ “ทางม้าลาย” ต้องทำเป็น “แพ็คเกจ” แก้เชิงเดี่ยวไม่ได้ นักวิชาการความปลอดภัยทางถนน ชี้ต้องปรับหลายส่วน กายภาพทางข้ามต้องชัด กำหนดสปีด โซน ลดความเร็วเขตเมือง เตือนยุคปัจจุบันสภาวะดึงความสนใจหรือการจดจ่อจากถนนทำเสี่ยงอันตรายเพิ่ม..

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวถึงปัญหาอุบัติเหตุทางม้าลายที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นบริเวณทางม้าลายหน้าอาคารออลซีซั่นส์ เพลส ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กทม. มีผู้บาดเจ็บ 3 คน ว่า จากการเก็บข้อมูลการเสียชีวิตของคนเดินเท้า โดยบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถ จำกัด ในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา พบมีคนเดินเท้าเสียชีวิตจำนวน 1,177 ราย หากเปรียบเทียบระหว่างปี 64 กับ 65 จำนวนผู้เสียชีวิตจากการข้ามถนนมีแนวโน้มลดลง ร้อยละ 12.87 แต่หากเจาะจงเฉพาะทางม้าลายกลับพบยังไม่ลด

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าระยะหลังเริ่มเห็นทิศทางว่ากำลังดีขึ้นจากสัญญานภาพรวมที่ค่อยๆ ลด แต่คงไม่สามารถเปลี่ยนได้ในทันที และยังมีอีกหลายโจทย์ที่ต้องแก้ไขทั้งการสร้างบรรทัดฐานสังคม (NORM) การปรับปรุงกายภาพไปจนถึงการบังคับใช้กฎหมาย ยกตัวอย่างการสร้างบรรทัดฐาน เช่น หยุด หรือชะลอ ให้คนข้ามทางม้าลาย ในอดีตหากชะลออาจถูกบีบแตรไล่ แต่ปัจจุบันดีขึ้นไม่ถึงกับบีบไล่ แต่ที่ยังแก้ไม่ได้คือเห็นคันหน้าชะลอแล้วมักเปลี่ยนออกเลนขวาซึ่งเป็นเลนอันตราย เสียโอกาสมองเห็นทั้งคนข้ามและคนขับ

ซ้ำรอย ‘หมอกระต่าย’ รถตู้ก้มดูมือถือชนท้ายคันหน้า พุ่งชนคนข้ามทางม้าลายเจ็บ 3 

ในด้านกายภาพยังเป็นจุดที่ต้องเพิ่มความสำคัญ โดยเฉพาะการทำอย่างไรให้ทางม้าลายเห็นได้ชัดเจน คนขับสามารถสังเกตได้ว่าจะมีทางม้าลายข้างหน้า พร้อมย้ำสิ่งที่ต้องเตือนให้ระมัดระวังมากขึ้นในปัจจุบันคือ สภาวะถูกดึงความสนใจหรือการจดจ่อ จากการไปจดจ่อดูจีพีเอส หรือหน้าจอ ซึ่งเป็นความเสี่ยงเพราะเมื่อไหร่ที่ต้องจดจ่อ แต่ผู้ขับขี่กลับละสายตาออกไปเท่ากับไม่ได้ให้ความสำคัญกับถนน

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดังกล่าวอาจเสริมได้ด้วยการออกแบบถนนก่อนถึงทางม้าลาย เช่น มีลูกระนาด หรือมีเนิน ให้รู้สึกแม้จะดูจออยู่ก็ต้องรู้ว่าข้างหน้าจะมีทางม้าลาย เรื่องดังกล่าวเป็นหลักความปลอดภัยที่ควรมี เพราะคนมีโอกาสผิดพลาดหรือถูกดึงความสนใจจึงต้องออกแบบเรื่องแบบนี้เผื่อไว้ด้วย

ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวต่อว่า นอกจากการแก้ไขกายภาพ การจัดการความเร็วจำเป็นโดยเฉพาะเขตเมืองที่มีคนข้ามทางม้าลายไปมาตลอด หากเป็นไปได้เขตเมืองควรถูกจำกัดความเร็วไม่เกิน 50 กม./ชม. หรือสร้างสปีด โซน เป็นพื้นที่ใช้ความเร็วต่ำ เพื่อลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุ เพิ่มเวลาตัดสินใจ อีกโจทย์ที่เป็นปัญหามากคือการขับรถจี้คันหน้าไม่เว้นระยะ ทำให้ไม่มีเวลาตัดสินใจเมื่อเกิดเหตุการณ์กะทันหัน

ผู้จัดการ ศวปถ. เสนอให้เรื่องความปลอดภัยทางถนนเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกโรงเรียนต้องให้เด็กเรียนรู้ พร้อมเพิ่มเติมไปถึงการคาดการณ์ความเสี่ยงไม่ใช่แค่การเรียนรู้แบบท่องจำ เช่น หากรถคันหน้าชะลอต้องคาดการณ์ได้ว่าอาจมีคนข้ามถนนอยู่ไม่ควรเปลี่ยนเลน ต้องชะลอตาม เพิ่มทักษะการตัดสินใจเมื่อเกิดเหตุการณ์ และเมื่อผิดพลาดการบังคับใช้กฎหมายยังต้องเข้มงวด ซึ่งที่ผ่านมามองว่ายังมีช่องโหว่ แม้จะบังคับโทษเพิ่มเรื่องการตัดแต้ม แต่มองว่าไม่เพียงพอ พร้อมมองว่าควรยกระดับการลงโทษกรณีขับรถชนคนข้ามทางม้าลายจากการขับประมาทเป็นขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย เพื่อให้สังคมเพิ่มความตระหนัก

ทั้งนี้ในส่วนคนข้ามทางม้าลายฝากว่าเพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น คนข้ามต้องเพิ่มการคาดการณ์และประเมินความเสี่ยงทุกช่องจราจรอย่างถี่ถ้วน แม้จะฝืนธรรมชาติที่มักมองทีละเลน พร้อมทิ้งท้ายเรื่องความปลอดภัยเวลาแก้ต้องแก้เชิงแพ็กเกจ ไม่ได้แก้เชิงเดี่ยว เพียงเรื่องคน เรื่องจิตสำนัก หรือกายภาพเท่านั้น....

ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Thailand Development Research Institute (TDRI)...

ที่มา : www.dailynews.co.th

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved