กางกฎหมายตัดแต้มใบขับขี่ ยาขมกำราบทำผิดกฎจราจร  


24 ม.ค. 2566 3436 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


เริ่มจับจริงจังบังคับใช้มาพักใหญ่ “การตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ” เป็นมาตรการกำราบพฤติกรรมเสี่ยง “ผู้ทำผิดกฎจราจร” เพื่อช่วยเสริมสร้างวินัยการขับขี่บนท้องถนนให้ปลอดภัยขึ้นนั้น

สาระสำคัญเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ.2565 ออกตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142/1 กำหนดให้ผู้มีใบอนุญาตขับขี่ทุกคนมีคะแนนความประพฤติ 12 คะแนน

ไม่ว่าผู้นั้นจะได้ใบขับขี่กี่ชนิดก็ตาม “กระทำความผิดตามกฎจราจร” ในข้อหาระบุไว้จะถูกตัดแต้มตามเกณฑ์ 1-4 คะแนน “เรียงจากเบาไปหาหนัก” แล้วถ้าค้างชำระค่าปรับข้อหาที่กำหนดจะถูกหักเพิ่มอีก 1 คะแนน โดยตำรวจจะบันทึกข้อมูลลงในระบบ PTM หรือระบบจัดการใบสั่งออนไลน์ครบวงจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ผู้ขับขี่ถูกตัดจนเหลือ 0 คะแนน ต้องถูกพักใช้ใบขับขี่ 90 วัน แล้วถ้ายังดันทุรังฝ่าฝืนขับรถขณะถูกสั่งพักใบขับขี่จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากผู้ใดสงสัยถูกตัดกี่แต้มตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ E-Ticket PTM หรือแอปพลิเคชันขับดี (KHUB DEE) พร้อมสามารถชำระ ค่าปรับได้ที่แอปพลิเคชันเป๋าตังอีกด้วย

เรื่องนี้เป็นกระแสพูดกันอย่างกว้างขวางช่วงที่ผ่านมาจนกลายเป็นความท้าทายต่อ “การจัดระเบียบการฝ่าฝืนกฎหมายจราจรในประเทศไทย” อันเป็นเสมือนเรื่องเก่านำมาเล่าใหม่ เพื่อการลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนนี้ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) บอกว่า

จริงๆ แล้ว “มาตรการตัดแต้มใบขับขี่ถูกบังคับใช้ในหลายประเทศมานาน” โดยเฉพาะในยุโรปเสมือนเป็นมาตรการขั้นพื้นฐานถูกใช้ใน 20 ประเทศ “ด้วยเจตนารมณ์สร้างความตระหนักให้ระมัดระวังการฝ่าฝืนกฎจราจร” ด้วยการใช้คะแนนเป็นเครื่องมือเฝ้ากำกับดูอย่างใกล้ชิด อันทำให้พฤติกรรมของผู้ขับขี่รถเปลี่ยนไป

ส่วน “ประเทศไทย” การตัดแต้มใบขับขี่นี้เพิ่งนำมาใช้ในระบบการขนส่งทางถนน และการให้บริการผู้โดยสารรถสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถบรรทุก รถโดยสาร ผู้ขับรถสาธารณะ และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กำหนดให้มีแต้มเต็ม 100 คะแนน แบ่งการตัดตามความผิด 3 กลุ่ม ตามความร้ายแรงของความผิดคือ

กลุ่มที่ 1 ตัดคะแนนครั้งละ 10 คะแนน กลุ่มที่ 2 ตัดครั้งละ 20 คะแนน กลุ่มที่ 3 ตัดครั้งละ 30 คะแนน ส่วนผู้ถูกตัดจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต 90 วัน ถ้าถูกสั่งพักเกินกว่า 2 ครั้งใน 3 ปี นับแต่วันถูกตัดครั้งแรกจะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต 180 วัน กรณีทำผิดร้ายแรงจะถูกตัดเหลือ 0 คะแนน ในครั้งเดียวและพักใบอนุญาตทันที

เช่น เสพยาเสพติดให้โทษในขณะขับรถ ขับรถระหว่างถูกพักใบอนุญาต กระทำการให้เกิดผลกระทบภาพพจน์ประเทศ ขับรถไม่คำนึงความปลอดภัยผู้อื่น ก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงมีผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจำนวนมาก

สำหรับจุดแข็ง “การตัดแต้มรถขนส่ง และรถสาธารณะ” มีลักษณะการเชื่อมผูกมัดอันจะกระทบต่อการประกอบอาชีพของผู้ขับขี่ “ในกรณีถูกตัดจนเหลือ 0 คะแนน” เพราะต้องถูกพักใบอนุญาตทำให้ไม่อาจขับขี่รถได้ “กลายเป็นการสูญเสียรายได้ช่วงนั้น” ทำให้ผู้ขับขี่รถขนส่ง และรถสาธารณะตระหนักถึงกฎจราจรจริงจัง

ตามข้อมูลจากกรมขนส่งทางบกนั้นผู้มีใบขับขี่รถขนส่ง และรถสาธารณะทั่วประเทศ 1 ล้านใบ “ทำผิดกฎจราจรจนถูกตัดแต้มแล้ว 4 หมื่นใบ” ตรงนี้มีข้อสังเกตน่าสนใจคือ “จำนวนผู้ขับขี่ถูกตัดแต้มมักไม่ปรากฏการกระทำความผิดในข้อหานั้นซ้ำอีก” พูดง่ายๆคือ ผู้กระทำผิดมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ที่ดีขึ้น

แต่หากนำมาเปรียบเทียบ “การตัดแต้มใบขับขี่บุคคลอาจจะได้ผลน้อย” อันมีปัจจัยจากการขาดกลไกกระตุ้นบีบให้ผู้ขับขี่เกิดความกลัวต่อการกระทำผิดนั้น เพราะด้วยที่ผ่านมาแม้มีการฝ่าฝืนกฎจราจรจนถูกออกใบสั่งแล้วเมื่อไม่ดำเนินการชำระค่าปรับกลับไม่ก่อเกิดผลกระทบใดๆด้วยซ้ำ

ฉะนั้นเรื่องนี้เสนอให้สร้างกลไกตัวช่วยเสริมให้เกิดจุดแข็ง 2 ประการ คือ ประการแรก... “การตัดแต้มใบขับขี่บุคคลต้องเชื่อมระบบซื้อประกัน” เช่น กรณีการต่อ หรือซื้อประกันควรมีบันทึกประวัติตัดคะแนนความประพฤติออกโดยตำรวจ หรือกรมการขนส่งทางบกเข้ามาเป็นองค์ประกอบการพิจารณาขึ้นเบี้ยประกันด้วย

อย่าลืมว่า “ผู้ขับขี่ถูกตัดแต้มหลายคะแนน” สะท้อนถึงพฤติกรรมไม่เคารพกฎจราจรมักนำไปสู่ความเสี่ยงต่อ “อุบัติเหตุบนท้องถนน” ดังนั้นหากบริษัทรับทำประกันไม่ตรวจสอบนี้ก็หมายความว่า “เปิดประตูรับความเสี่ยงเข้าระบบประกันภัยเยอะขึ้น” ทำให้มีโอกาสต้องจ่ายค่าเคลมจากความเสียหายอุบัติเหตุมากขึ้นก็ได้

ประการที่ 2...การตัดแต้มใบขับขี่เชื่อมระบบสมัครงาน” ด้วยการใช้บันทึกประวัติการทำผิดกฎจราจรมาเป็นส่วนหนึ่ง “ในการพิจารณาการรับบุคคลนั้นเข้าทำงาน” แม้ว่าปัจจุบันนี้บริษัทบางแห่งจะนำมาตรการนี้มาเป็นองค์ประกอบพิจารณารับบุคคลเข้างานแล้ว “มักเน้นสายงานขับรถ” แต่พนักงานส่วนอื่นกลับไม่ตรวจสอบ

นั่นกลายเป็นว่า “บริษัทยอมรับความเสี่ยง” ในอนาคตคนกลุ่มนี้อาจก่อความเสียหายให้บริษัทตามมาก็ได้ ฉะนั้นหาก “ประเทศไทย” นำระบบตัดแต้มมาเป็นเครื่องมือควรต้องเชื่อมโยง 2 เรื่องนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องผูกพันกันด้วย จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนให้มีความระมัดระวังในการไม่ฝ่าฝืนกฎจราจรได้ดียิ่งขึ้น

ปัญหามีอยู่ว่า “ประเทศไทยบังคับใช้กฎหมายแบบแยกส่วน” แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำกัน “ส่งผลให้ประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎจราจรทำได้น้อยลง” แล้วยิ่งกว่านั้นคนไทยขับรถโดยไม่มีใบขับขี่สูงมากโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์มีใบอนุญาต 1 ใน 3 ของจำนวนรถ ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งบังคับให้มีใบขับขี่ครอบคลุมทุกคน

มิเช่นนั้นมาตรการตัดแต้มอาจไม่เกิดประสิทธิภาพ “กฎหมาย” จะกลายเป็นหมันอย่างที่ผ่านมาก็ได้

ย้ำคำถามว่า “ทำไมไม่ทำระบบใบขับขี่ให้พร้อมก่อนออกมาตรการตัดแต้ม..?” ตรงนี้มองว่าการบังคับใช้กฎหมายให้ผู้ขับขี่เคารพกฎจราจรกำลังเข้าทางตัน “พูดง่ายๆคือ หมดมุก” ด้วยที่ผ่านมาประเทศไทยนำมาตรการดีๆ จากต่างประเทศมาปรับใช้มากมาย “สุดท้ายตกม้าตาย” เพราะการเตรียมระบบพื้นฐานรองรับไม่ดีพอ

ทั้งการประชาสัมพันธ์สู่สาธารณชน การบังคับให้มีใบขับขี่ครอบคลุมรองรับมาตรการอื่น การเข้าถึงระบบพื้นฐานข้อมูลตรวจสอบกรณีผู้ขับขี่ฝ่าฝืนกฎจราจร แม้ว่าภาครัฐพยายามจัดทำแล้วแต่ประชาชนกลับรับรู้น้อย

เหตุเช่นนี้ “การตัดแต้มจะเกิดประสิทธิภาพต้องทำอีกหลายประการ” เพราะ พ.ร.บ.จราจรฉบับใหม่นี้จัดให้ความผิดจราจรเป็นความผิดอาญาแบบตัดแต้มความประพฤติร่วมด้วย อย่างคดีเมาแล้วขับนอกจากถูกดำเนินคดีต้องถูกตัดแต้มอีก กรณีได้ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ที่ชำระกันเพียง 7% ถ้าไม่มาจ่ายก็จะถูกตัดแต้มเพิ่ม 1 คะแนน

สิ่งกังวลคือ “การอบรมสำหรับคืนคะแนนปีละ 2 ครั้ง” ที่อาจจะกลายเป็นปัญหาหนักให้ “กรมการขนส่งทางบก” ตามปกติงานการอบรมเพื่อออกใบขับขี่ หรือต่อใบขับขี่ก็ค่อนข้างต่อคิวยาวกันเป็นเดือนอยู่แล้ว

ถัดมาปัญหาที่สังคมสับสนคือ “ขั้นตอนปฏิบัติ” ด้วยสภาพการบังคับใช้กฎหมายกำลังสวนทางความจริงอย่างกรณีบอกไปแล้วว่า “ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ มีใบขับขี่ 1 ใน 3” และมีคำถามว่าคนกลุ่มนี้ “จะตัดแต้ม หรือบังคับใช้กฎหมายอย่างไร..?” ดังนั้นสิ่งแรกต้องทำให้คนไม่มีใบขับขี่เข้าระบบเพื่อให้มีหลักฐานการตัดแต้มนั้น

ตอกย้ำต่อด้วยว่า “ความพร้อมของผู้ปฏิบัติงาน” โดยเฉพาะตำรวจมีความเข้าใจในหลักดำเนินการ หรือมีอุปกรณ์การตรวจสอบว่า “ใบขับขี่นั้นถูกตัดไปกี่คะแนนแล้ว” สิ่งนี้มีเพียบพร้อมกันหรือไม่..? เพื่อให้มาตรการตัดแต้มเป็นไปตามเจตนารมณ์บังคับใช้ให้ “พฤติกรรมผู้ขับขี่” ปรับเปลี่ยนเคารพกฎจราจรมากยิ่งขึ้นนั้น

เน้นย้ำว่า “กฎหมายจราจรทุกฉบับ” ที่บังคับใช้นั้นครอบคลุมดีทุกด้าน “แต่บ้านเรามักตกม้าตายในขั้นตอนการบังคับใช้” ทำให้กฎหมายดีๆ หลายฉบับสูญเปล่าเช่นเดียวกับ “มาตรการตัดแต้มนับว่ามีหลักการที่ดีมาก” คงเหลือเพียงการปฏิบัติที่ต้องติดตามกันต่อไป...

ที่มา: https://www.thairath.co.th/

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved