แค่พูดก็วัดแอลกอฮอล์ได้ เทียบ เป่า VS เจาะเลือด ดึงเช็งช้า หาย 15 มก./ชม.  


12 ม.ค. 2566 2829 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


ผลออกมาแล้ว สำหรับการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของ เสี่ยเบนท์ลีย์ หลังขับรถด้วยความเร็ว แซงซ้ายพุ่งชน มิตซูบิชิ ปาเจโร่ ของคู่กรณี ก่อนจะมีรถอีกคันขับตามหลังมา พุ่งชนซ้ำ จนมีผู้บาดเจ็บ 6 ราย ซึ่งมีรายงานล่าสุด วันนี้ (11 ม.ค.) จากโรงพยาบาลตำรวจว่า ผลอยู่ที่ประมาณ 10 กว่ามิลลิกรัม แต่ตำรวจได้ดำเนินคดีข้อหาเมาแล้วขับ เพราะถือว่าเป็นการปฏิเสธการตรวจ 

สิ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ คือ หลังเกิดเหตุ เสี่ยเบนท์ลีย์ ปฏิเสธการเป่าแอลกอฮอล์ แต่ยอมเจาะเลือดตรวจแทน ซึ่งต่อ พล.ต.ต.สุวิชชา จินดาคำ ผู้บังคับการตำรวจจราจรกลาง (ผบก.จร.) จึงสั่งตั้งกรรมการสอบ สน.ทางด่วน 1 ในประเด็นที่ไม่ตรวจวัดแอลกอฮอล์ทันที

อย่างไรก็ตาม พล.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดูแลงานจราจร ในฐานะโฆษก บช.น. แถลงเมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า มีการเจาะเลือดตรวจเสี่ยเบนท์ลีย์ ช่วงเวลา 01.00-02.00 น. ขณะที่ กู้ภัยที่อยู่ในเหตุการณ์ ระบุว่า เวลานั้น เสี่ยเบนท์ลีย์ ยังคงนั่งอยู่ในรถ และกว่าจะได้ไปตรวจที่โรงพยาบาลตำรวจ ในช่วงเวลา 04.00-05.00 น. ซึ่งถือเป็นการให้ข้อมูลไม่ตรงกัน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถาม ถึงวิธีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ด้วยการเจาะเลือด และการเป่า ว่ามีผลแตกต่างกันหรือไม่ และช่วงเวลาที่ผ่านไปมีผลอย่างไรกับผู้ขับขี่ กับ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ หรือ หมอจิ๋น ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) บอกว่า การตรวจวัดแอลกอฮอล์ ด้วยเครื่องเป่า และการเจาะเลือด จะให้ค่าข้อมูลที่เท่ากัน ถ้าทั้ง 2 เครื่องมือ ได้รับการตรวจแบบ “สอบเทียบ” เพราะเครื่องมือทั้ง 2 ถือว่าเป็นการวัดได้มาตรฐาน

การเป่า : การวัดแอลกอฮอล์ ผ่านลมหายใจ
เจาะเลือด : เป็นการวัดแอลกอฮอล์ได้ โดยมีผลเท่าเทียมกัน

แค่พูดก็วัดแอลกอฮอล์ได้ เทียบ เป่า VS เจาะเลือด ดึงเช็งช้า หาย 15 มก./ชม.

“ข้อดีของเครื่องเป่า คือ สามารถใช้ได้ทันที ที่มากกว่าการเจาะเลือด เนื่องจากจำเป็นต้องไปทำที่สถานพยาบาล ซึ่งการตรวจทันที จะมีความสัมพันธ์กับความถูกต้องแม่นยำ โดยทุกๆ ชั่วโมงที่ผ่านไป ร่างกายจะเผาผลาญแอลกอฮอล์ออกไป โดยจากการศึกษาข้อมูลของโรงพยาบาลศิริราชพบว่า ทุกๆ ชั่วโมงที่ผ่านไป ร่างกายคนเราจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ลดลง 15 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สมมติว่า หากเราดีเลย์ การตรวจวัดแอลกอฮอล์ 3 ชั่วโมง แอลกอฮอล์ที่หายไป ก็จะประมาณ 45 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์”

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เรายังไม่มีกรณีตัวอย่าง ที่ใช้ความเห็นผู้เชี่ยวชาญในการประกอบคดี “เมาแล้วขับ” โดยสามารถให้ความเห็นทางการแพทย์ได้ว่า “เมาแล้วขับ” เพราะมีการดีเลย์ด้วยการเจาะเลือด ซึ่งเคสนี้ พนักงานสอบสวนและอัยการ ควรจะเดินหน้าฟ้อง ซึ่งในชั้นศาลก็ควรเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือพิษวิทยามาให้ข้อมูลประกอบได้

แค่พูดก็วัดแอลกอฮอล์ได้ เทียบ เป่า VS เจาะเลือด ดึงเช็งช้า หาย 15 มก./ชม.

“เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นที่สังคมเกิดความสงสัย ฉะนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรจะออกข้อกำหนดไปเลยว่า ให้ผู้ขับขี่รถเป่าในที่เกิดเหตุไปเลย เพราะเครื่องวัดที่ได้มาตรฐาน กับการเจาะเลือด ได้ผลลัพธ์เท่ากัน”

ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวว่า การที่ทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย ไม่เกิดผลดีกับทางตำรวจ และที่น่ากังวลไปกว่านั้น คือ จะกลายเป็นแบบอย่างให้คนอื่นในสังคม เมื่อเป็นแบบนี้ ประชาชนก็จะไม่เป่า โดยอ้างว่า “ผมเจ็บหน้าอก...เป่าไม่ได้” ต่อไปจะกลายเป็นเรื่องยุ่งยากในการบังคับใช้กฎหมาย

ผลการเจาะเลือดวัดแอลกอฮอล์ มีน้ำหนักในทางคดี มากกว่าเครื่องเป่า? จริงหรือไม่ ผู้จัดการ ศวปถ. ตอบว่า เรื่องนี้ไม่จริง เพราะเครื่องเป่าได้รับการ “สอบเทียบ” แล้ว ว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าการเจาะอยู่แล้ว...

ในทางการแพทย์ต้องเจ็บถึงขั้นไหน จึงไม่สามารถเป่าลมได้ นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า โดยพื้นฐาน หากจะเป่าไม่ได้ก็ต่อเมื่อ...ไม่รู้สึกตัว หรือ เครื่องเป่า ที่ต้องใช้แรงลมปริมาณมากๆ ซึ่งตอนนี้ เครื่องเป่าฯ ส่วนใหญ่มีการปรับปรุงตัวเซนเซอร์การวัดเกือบหมดแล้ว แค่เพียงเป่าเบา หรือแค่พูด ก็เริ่มวัดได้แล้ว

ดังนั้น โอกาสที่จะอยู่ในสถานการณ์ที่เป่าลมไม่ได้ เรียกว่ามี “น้อยมาก” และในทางกลับกัน หากเขาเป่าไม่ได้ หรือเจ็บหน้าอกด้วยอาการซี่โครงหัก หายใจแล้วเจ็บ หรือบาดเจ็บบริเวณช่องปาก เช่น กระดูกกรามหัก หากเจอผู้ประสบเหตุด้วยอาการเหล่านี้ ก็ควรรีบส่งโรงพยาบาล ไม่ใช่อาการที่สามารถนั่งเคี้ยวหมากฝรั่ง หรือโทรศัพท์ได้ หากส่งโรงพยาบาลก็สามารถเจาะเลือดได้ทันที

แค่พูดก็วัดแอลกอฮอล์ได้ เทียบ เป่า VS เจาะเลือด ดึงเช็งช้า หาย 15 มก./ชม.

เคี้ยวหมากฝรั่ง ดื่มน้ำมากๆ ช่วยลดแอลกอฮอล์ในเลือดได้หรือไม่ นพ.ธนะพงศ์ ตอบชัดเจนว่าไม่เกี่ยวโดยตรง แต่การเผาผลาญในร่างกายเมื่อเวลาผ่านไปต่างหาก เพราะ “ตับ” ของคนเราจะทำงานภายใต้เงื่อนเวลาที่ผ่านไป ปัจจัยที่มีผลโดยตรงคือ “เงื่อนเวลา” เพราะแอลกอฮอล์อยู่ในเลือด

“เรื่องนี้ควรจะนำมาเป็นบทเรียน และกำหนดเป็นมาตรฐาน ในการดำเนินคดี กรณีอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยิ่งมีคนเจ็บ หรือเสียชีวิตแล้ว ตำรวจต้องมี “หน้าที่” ตรวจแอลกอฮอล์ทันที! ทุกราย! ไม่ใช่ปล่อยให้เป็น “ดุลยพินิจ” ของพนักงานสอบสวนที่ต้องรอได้กลิ่นก่อน ซึ่งถือว่าไม่มีเหตุผลอันควร ที่สำคัญกรณีที่เกิดขึ้นนี้ คู่กรณีมีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ได้ ในข้อหา มาตรา 157 ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

ที่มา: https://www.thairath.co.th/

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved