เมื่อไหร่ถนนจะปลอดภัย สนทนา น.อ.สุวรรณ ภู่เต็ง ในวันที่คนไทย มอง ทางม้าลาย ไม่เหมือนเดิม  


1 ก.พ. 2565 2442 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


เป็นเรื่องเศร้าครั้งใหญ่ในสังคม สำหรับกรณีอุบัติเหตุที่ตำรวจควบคุมฝูงชนนายหนึ่งขี่บิ๊กไบค์พุ่งชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ ‘หมอกระต่าย’ จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีเพียงหลักสิบในประเทศไทย โดยเพิ่งสานต่ออุดมการณ์บิดาด้วยการเข้าทำงานที่ รพ.ตำรวจได้เพียง 2 เดือน

โซเชียลแห่อาลัย คุณแม่หลายรายแทบใจสลาย เมื่อรู้ว่าสูญเสียคุณหมอเจ้าของเคสลูกชายที่กำลังจะผ่าตัดดวงตา

ในขณะเดียวกัน สังคมไทยร่วมกันตั้งคำถามสำคัญถึง ‘ความปลอดภัย’ ในชีวิตบนท้องถนน ร่วมกันทวงถามถึงทางม้าลายที่หายไป ณ แยกทางด่วนเพลินจิต

เกิดการทดลองนั่งวีลแชร์ข้ามทางม้าลายที่สุดท้ายก็ยังมีรถพุ่งออกมาจากเลนขวา

รถจักรยานยนต์จอดติดไฟแดง ทับทางเดินข้ามที่แยกพระราม 9เจ้าหน้าที่ตำรวจขับขี่รถจักรยานยนต์ตัดหน้าเด็กนักเรียนหญิงที่กำลังข้ามทางม้าลาย

ทั้งที่กลุ่มควันและความเศร้าโศกยังไม่ทันจางหาย

เราจะแก้ปัญหานี้ได้จริงหรือไม่ ? สร้างทางม้าลายใหม่อย่างไรให้ปลอดภัยอย่างแท้จริง ?

“ไม่มีทางม้าลายบนโลก ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์”

คือคำตอบของ นาวาอากาศเอกสุวรรณ ภู่เต็ง ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยที่ร่วมสวมเสื้อดำไว้อาลัยการสูญเสียหมอกระต่าย

เผยมุมมองในฐานะผู้เดินทางบนสายงานนี้มานานกว่า 20 ปี เป็นทั้งอาจารย์ วิทยากรหลักสูตรการจัดความปลอดภัยการบิน นักวิเคราะห์มนุษย์ปัจจัยในการสอบสวนอุบัติเหตุให้แก่หน่วยงานราชการและสายการบิน ผู้เขียนหนังสือ “ทักษะคิด ฝ่าวิกฤตอุบัติเหตุทางถนน”

หนนี้ขอปรับกระบวนทัศน์ที่ถูกต้อง มอบ ‘วัคซีนจราจร’ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

“วันนี้สังคมไทยได้คำตอบหรือยังว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุครั้งนี้ อะไรคือหนทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ?”

อ่านความคิดเห็นจาก น.อ.สุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยตัวจริงได้จากบรรทัดต่อไปนี้

●‘ชนบนทางม้าลาย’ เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนในประเทศไทย เสียชีวิตปีละกี่ราย?
ไม่ใช่หมอคนแรกที่ถูกชนขณะเดินข้ามถนน คนไทย 500-1,000 คนต่อปี เสียชีวิตบนท้องถนน พอเราเผาศพเสร็จ ก็ไม่มีใครอยากจะทำอะไรต่อ ผมเห็นประเทศของเราเป็นแบบนี้มายาวนาน เราเป็นแชมป์เอเชีย เป็นท็อป 10 ของโลกในเรื่องอุบัติเหตุ เรารู้ว่าสูญเสียหลายแสนล้านบาทต่อปี

ผมไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่ทนาย ไม่อยากเกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาคดี แต่จะขอเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคู่กรณีทั้งสองบนพื้นฐานของคำว่า ‘ความปลอดภัย’ คืออะไร ถ้าเป็นผมจะสอบสวนกรณีนี้ในลักษณะที่เรียกว่า ‘สอบสวนความปลอดภัย’ เพื่อหาสาเหตุแท้จริงที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานสากล

แต่การสอบสวนความปลอดภัย ไม่ใช่เพื่อชี้ว่า ‘ใคร’ ผิด-ถูก เป็นการหาว่า ‘อะไรผิด’ แล้วจะได้นำสิ่งนั้นมาแก้ไข ผมอยากให้เห็น การเคลื่อนย้ายมุมมองด้านอุบัติเหตุ (paradigm shift) คนไทยไม่มีการสอบสวนความปลอดภัยที่สอดคล้องกับการวิวัฒน์ไปของโลกที่เขานำหน้าเราอยู่ จึงทำให้เราให้เหตุผลวนเวียนอยู่กับคำว่า ‘ประมาท’ แล้วเราเอาเรื่องของการสอบสวนเชิงพิจารณาคดี มาชี้ว่าใครผิด

ข้อหาในทางคดีก็ต้องตั้ง แต่ทำไมถึงจะเอาเรื่องนี้เฉพาะเหตุนี้ ไปดูความเป็นจริงบนถนนวันนี้ มีรถมอเตอร์ไซค์วิ่งเลนขวาอยู่เท่าไหร่ อย่าปิดหูปิดตาประชาชน เราไม่มีทางขับเคลื่อนให้เป็นประเทศที่ปลอดภัยชั้นนำ-ลดอุบัติเหตุได้อย่างยั่งยืน ถ้ายังคงอยู่ในวังวนของการให้เหตุผลของอุบัติเหตุเป็นวงกลมแบบนี้

●กฎหมายหละหลวม หรือผู้ใช้ไม่เคารพกฎหมาย?
วันนี้ตำรวจสำนึกผิดแล้ว สำนึกผิดหรือว่าสำนึกบาป ไม่รู้จริงๆ หรือว่าขับเลนขวาไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่แค่ตำรวจที่ทำแบบนี้ สมมุติเปลี่ยนสถานการณ์ ‘คนเดินข้ามถนน บิ๊กไบค์นายทหารเรือยศร้อยเอก อยู่เลนขวาสุด ก่อนจะชนเอามือผลักคนข้ามถนน จึงรอด แต่บิ๊กไบค์ตาย บิ๊กไบค์เป็นฮีโร่’ นี่หรือสังคมไทยในเรื่องของความปลอดภัยทางถนน ซึ่งเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นจริง

ถ้ามองประเด็นความปลอดภัย หมายความว่า 1.คุณหมอก็ไม่ได้มีเจตนาเล็งเห็นผล ให้เดินข้ามถนนแล้วรถชนเสียชีวิต ตำรวจก็เช่นกัน ไม่ได้มีเจตนาหวังชนคุณหมอ ฉะนั้น เลิกคิดได้แล้วว่าตำรวจจะติดคุก 10 ปี ไปเปิดดูไม่เคยมีใครต้องติดคุกสักที เพราะ ‘สำนึกผิด’ นั่นคือกระบวนทัศน์เก่า

แต่มองอีกด้าน ถ้าคนในสังคมไทยปรับกระบวนทัศน์การรับรู้อุบัติเหตุว่าสาเหตุสิ่งที่เกิดขึ้นคือ มอเตอร์ไซค์ของตำรวจกำลังจะขับผ่านทางม้าลาย เห็นทางม้าลายหรือไม่? ถ้า ตร.บอกไม่เห็น แล้วไม่เชื่อ ก็ไปพิสูจน์ต่อว่าขับรถมานานแค่ไหน, เมื่อเห็นแล้วคุณทำอย่างไร? ขณะนั้นความเร็วเท่าไหร่? คิดอะไรทำไมไม่ลดความเร็ว?

ถ้าเห็นและมีเวลาพอในการเบรกหรือหลบเลี่ยง เชื่อหรือว่าเขาจะชน แถมมีหลักฐานบางอย่างทิ้งไว้ให้สืบต่อ คือไม่มีร่องรอยเบรกเลย สำหรับผมหมายความว่า PRT (Perception Reception Time) ของเขาไม่พอ เหมือนกับเราเดินๆ อยู่แล้วไปชนอะไรเข้าสักอย่าง มีเรื่องของการรับรู้เป็นหลัก คือสายตา หรือการมองเห็น เขามองอยู่เพราะขี่มอเตอร์ไซค์แต่ขี่ค่อนข้างเร็ว มุมมองที่ค่อนข้างตีบลง ทำให้มีโอกาสรับรู้ได้น้อยลง คุณหมอเดินจากทางด้านซ้ายเข้ามา ยังไม่เข้าขอบเขตสายตา เป้าที่เข้าด้านข้างจากการมองเห็นรอบๆ (Peripheral vision) ทำให้ข้อมูลที่เข้ามาไม่ชัดเจนและเร็วมาก แต่ด้วยความที่เป็นตำรวจ คนก็ย่อมจะคาดหวังว่าควรจะคาดการณ์ได้ แต่เขาคาดว่าไม่มีคนข้าม ซึ่งทางม้าลายที่ผ่านมาก็รอดมาได้ ‘ความเคยชิน’ มีส่วนแน่นอน เป็นเรื่องของความรู้และทักษะด้านความปลอดภัย

●ความปลอดภัยจะเป็นประเด็นก็ต่อเมื่อ มีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น?
ความปลอดภัยประเทศไทยแบบนี้เราเรียกกันว่า ‘วัฒนธรรมที่ค่อนข้างล้าหลัง’ เราไม่ได้มีลักษณะเชิงรุก Pro Active เรารอให้อุบัติเหตุเกิดก่อนเสมอ แล้วก็ปั่นกระแสกันสนุกสนาน คนที่จะทุกข์ไปตลอดเวลาคือครอบครัวผู้สูญเสียและของตำรวจ ทั้งคู่ไม่ได้อะไร ไทยมีแต่สูญเสียกับอุบัติเหตุ คนที่เกี่ยวข้องก็เช่นกัน

สังคมตื่นรู้ ว่ารัฐไทยไม่ลงทุนในการ ‘สอบสวนเชิงความปลอดภัย’ ให้ได้ข้อมูลจริงที่สอดคล้องและสามารถนำมาใช้พัฒนาคนได้ ดีกว่าเราปล่อยให้ชีวิตผูกอยู่กับความเชื่อ เหมือนเราดูถูกความเป็นมนุษย์มากเกินไป

●เพื่อใม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย หลักคิดอะไรที่ผู้ใช้รถใช้ถนนจะต้องระลึกอยู่เสมอ?
ต้องมีองค์ประกอบ 3 เรื่องคือ ความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ซึ่งทำงานเปรียบเสมือนการก้าวเดินของคน หรือการบิดคัดเร่งและเหยียบเบรกของคนขับขี่

เราออกมาใช้รถใช้ถนน คนเดินถนนต้องรับผิดชอบตัวเอง ผู้ขับขี่ต้องรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น ถามว่าวันนี้ใครรับรู้ผิดพลาดบ้าง

เลนที่ 1 หยุดให้ข้าม เลนที่ 2 หยุดตาม เลนที่ 3 มีโอกาสที่จะหยุด เพราะตัวชี้แนะคนอื่นๆ บอกว่าหยุด

แต่การหยุดของการเดินข้ามถนนบนทางม้าลายคนไทยคือ ข้ามเลนที่ 1 ผ่านไป รถคันที่ 1 ก็เคลื่อน เลนที่ 2 เห็นแล้วว่ามีคนเดินข้าม ก็จะเตรียมหยุด แต่ยังไม่ได้หยุด เลนที่ 3 ก็หยุดไม่ทัน สุดท้ายก็เป็นเรื่องความผิดพลาดของความเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอในการรับรู้

กฎข้อเดียวในการข้ามถนนที่เรายังทำไม่ได้ คือ ‘มองเห็นและหลีกเลี่ยง’ ให้ปลอดภัย ในกรณีนี้ทำไมเราไม่ไปค้นหาสาเหตุ จะเห็นว่าจวนตัวสุดสุด คนของเราที่ถือได้ว่าเป็นหัวกะทิอย่าง ‘คุณหมอ’ ก็ยังข้ามถนนบนทางม้าลายแล้วถูกชนโดย ‘ตำรวจ’ มันพีคตรงนี้ ที่คนไทยช่วยกันกระหน่ำ แต่ถ้าเปลี่ยนจากรถมอเตอร์ไซค์ของตำรวจเป็นรถตราโล่ อยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ขับด้วยความเร็วนี้ คุณหมอจะมีสิทธิถูกชนเหมือนเดิมหรือไม่

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เรียกว่า ‘การกระทำที่ไม่ปลอดภัย’ ซึ่งผมย้ำว่าไม่ได้ชี้ใครผิดถูก ถ้าหากว่าเราให้ความเป็นธรรมกับเรื่องนี้แล้วดูกันอย่างพิเคราะห์ ใช้หลักการในการสืบค้นเพื่อหาสาเหตุอย่างแท้จริง ก็จะต้องลงว่า

‘คุณหมอ’ นั้นรับรู้ผิดพลาดในการเดินข้ามเลนสุดท้าย อาจเป็นไปได้ว่าไม่ได้หันมองให้ไกลพอจนเห็นรถมอเตอร์ไซค์ที่กำลังพุ่งเข้ามาด้วยความเร็ว เป็นไปได้ว่า, เชื่อว่า, ชะล่าใจว่า อยู่บนทางม้าลายต้องปลอดภัยและรถทุกคันน่าจะหยุด เหมือนกับเลนที่ 1 ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้หยุดจนกระทั่งเดินผ่านไปจนจบ

‘ฝ่ายของตำรวจ’ ก็รับรู้ผิดพลาดเช่นกัน ขี่รถจักรยานยนต์ผ่านทางม้าลายด้วยความเร็ว และไม่สามารถรักษาการมองเห็น หรือรับรู้ว่ากำลังมีคนข้ามอยู่ได้ทันเวลาพอที่จะตอบสนองด้วยการเบรก เลี้ยวหลบ แม้กระทั่งยอมปีนฟุตปาธ คนเราผิดพลาดคลาดเคลื่อนตรงนี้ ถ้าขับ 90 กม./ชั่วโมง เท่ากับว่า กำลังพุ่งหาด้วยความเร็ว 25 กม./วินาที

ถ้าคนไม่ถูกฝึกให้กวาดสายตา โดยใช้โฟเวีย (fovea) ที่คมชัด ซึ่งมีอยู่เล็กๆ ในตา เท่ากับเรากำลังใช้ชีวิตในแบบข้อมูลรางๆ เลือนๆ แล้วตัดสินใจเดินข้ามถนน, ขับรถ ผ่านทางม้าลาย หรือใช้โฟเวียแล้ว แต่โฟกัส (Focus) ไม่ถูกที่ เช่น เป้ากำลังเคลื่อนที่มาทางด้านข้าง แล้วอยู่ในระยะใกล้ เรดาร์หรือตาของคุณก็จับไม่ได้อยู่ดี หรือถ้าคุณจับได้ทัน ก็ไปไม่มีเวลาพอที่จะเบรก

ต้องเว้นคันหน้าให้ได้ 3 วินาที เวลาจะเดิน ก็ต้องมั่นใจว่า ข้าศึกของคุณกำลังจะมาจากทางไหน ทุกวันนี้คนไทยข้ามถนนมองข้างหน้าอย่างเดียว บางคนเล่นโทรศัพท์ไปด้วย แล้วจะมั่นใจได้ว่าใช้ทางม้าลายปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดว่านี่จะเป็นคดีสุดท้าย ช่างไร้เดียงสากับความปลอดภัย เมื่อเราได้สาเหตุที่แท้จริง ค่อยมาทำมาตรการป้องกัน การระดมทุนสร้างทางม้าลายนั้นผมไม่ได้ต่อต้าน แต่บางครั้ง เราใช้เทคโนโลยีโดยไม่ฝึกคน

Cognitive skill เป็นเรื่องของการรับรู้ไปเรื่อยๆ ขณะเดิน มีหลักว่า ‘คุณกำลังเสี่ยงถึงตายอยู่ รู้หรือไม่?’ ฉันจะต้องใช้ทุกอย่างทั้งกำลังกายกำลังสติ ในการเดินข้ามถนนให้ได้อย่างปลอดภัย ทุกคนคิดตลอดทางหรือไม่ พูดเรื่องทักษะการเดิน ดูเป็นเรื่องตลก แต่หลายคนเดินข้ามถนน แล้วสะดุดล้ม ลื่นหัวฟาดพื้นก็มี

ทัศนคติ คือสิ่งที่เป็นอิทธิพลต่อความคิดและอารมณ์ของเราในการเลือก ‘ทางเลือก’ แทนที่จะหยุดเรากลับก้าวเร็วขึ้น แทนที่จะชะลอ เรากลับบิดเร็วขึ้น รวมถึงทัศนคติเช่นว่า ฉันทำได้ กฎมีไว้แหก

●กฎของการใช้ทางม้าลายคืออะไร สรุปแล้ว คนเดินเท้าหรือรถต้องหยุดให้ทาง?
ไม่ได้เขียนเอาไว้ ให้ใช้ความระมัดระวัง คำว่า ‘หยุด’ ยังต้องเอามาตีความต่อ ‘ในขณะที่เท้าแตะเส้นของเลนแรก รถทุกเลนเมื่อเห็นรถคันที่ 1 หยุด คันที่ 2 ก็จะต้องหยุด และเลนที่ 3 ก็จะต้องหยุด’ ไม่มีใครเขียนเพราะปฏิบัติได้ยาก ในขณะที่เราขับรถ เราใช้ตัวชี้แนะในการใช้ความเร็วและควบคุมความเสี่ยง คนเดินข้ามถนน ก็ต้องคุมความเสี่ยง เผื่อรถเลน 3 จะไม่หยุด

ผมถึงเป็นห่วงประชาชนคนไทยว่าคุณอาจจะเป็นครอบครัวต่อไป ที่ลูกคุณเดินข้ามถนนแล้วถูกรถยนต์เลนขวาขับด้วยความเร็วไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด พุ่งชนเสียชีวิต แล้วเราจะไปอย่างไรกันต่อ จะแก้จบหรือไม่ คนข้ามถนนและคนขับขี่จะต้องประเมินและคุมความเสี่ยง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยที่ยอมรับได้ตลอดการข้าม นี่เป็นความรับผิดชอบที่ไม่อาจปัดไปให้กับทางม้าลายได้

●บ้างก็ว่า ‘คนมีวินัย’ แต่ในทางกลับกัน ก็มองว่า ‘การออกแบบ’ ต่างหากที่บังคับคนให้มีวินัย?
การออกแบบมีส่วนอยู่แล้ว แต่เรามีเงินมากพอไหม ระดมทุนสร้างทางม้าลายทั่วประเทศ อย่างไรก็สร้างให้ปลอดภัย 100% ไม่ได้ จะดีกว่าหรือไม่กับการใช้มาตรการ พร้อมกับพัฒนาศักยภาพของคน ให้สามารถเดินถนน-ขับขี่ได้อย่างปลอดภัย บนพื้นฐานของความสามารถในการคาดการณ์

อบรมให้เหมือนนักบิน การขนส่งที่ได้รับการยอมรับ และเราเองก็ทัดเทียมชาวบ้าน เพราะเราพัฒนาศักยภาพมนุษย์เป็นหลัก ไม่ใช่เอาเทคโนโลยีนำอย่างเดียว

ปัญหาไม่ใช่ทางม้าลายที่สร้าง รถ หรือถนนไม่ได้มาตรฐาน แต่คือคนของเราขาดศักยภาพในการทำกิจกรรมซึ่งมีความเสี่ยง นักวิจัยก็บอกแล้วว่าเป็นปัจจัยจากมนุษย์ 94% คนก็พูดอยู่ ‘วินัยจราจรสะท้อนวินัยชาติ’ ถามว่าวินัยจราจรใช่ถนน ใช่ทางม้าลายหรือไม่ เปล่า ‘เป็นคน’

ไม่มีทางม้าลายไหนในโลกใบนี้ที่รับประกันว่าใช้แล้วปลอดภัย 100% ที่คอมเมนต์ว่า เคยไปยุโรป ไปอเมริกามา แต่เห็นหรือไม่ว่าคนที่อังกฤษก็เพิ่งจะโดนชนกระจุยกระจาย เดินข้ามทางม้าลายเหมือนกัน คือเราขาดข้อมูล แต่เรากำลังจะมาบอกให้คนของเราหลับหูหลับตา เชื่อว่าทางม้าลายที่ถูกพัฒนาสร้างขึ้นมาเป็นมาตรการควบคุมความเสี่ยง ไม่มีใครกล้ารับประกัน นี่เป็นการตอบสนองระยะสั้นเพื่อเรียกความศรัทธาจากสังคมคืนมา แต่สุดท้ายแล้วก็เหมือนไฟไหม้แกลบ ไหม้ฟาง เพราะไม่ใช่มาตรการระยะยาวที่จะได้ผลอย่างจริงจัง

หนึ่งใน 6 ยุทธศาสตร์ใหญ่ที่จะสร้างรัฐไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทำไมเราพัฒนาคนไทยเราให้ใช้รถ ใช้ถนน ขับขี่ให้ปลอดภัยกันไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราเชื่อกันเหลือเกินว่าไม่มีใครเจตนา ความเชื่อเราถูก แต่ทำไมเราทำได้ไม่ถึง เราไม่ได้ทำตามความปลอดภัยอย่างแท้จริง เราไปทำตามการพิจารณาคดีความยุติธรรม แล้วเราก็ใช้ความสำนึกผิดในทางคดี สำนึกผิดแล้วเพราะไปบวช แล้วเราก็มาเล่นกันต่อว่า บวชได้-ไม่ได้ ต้องรีบสึก แตะเรื่องความเชื่อก็จะยุ่งกันไปอีก แล้วก็จะยุ่งกันต่อไปอีกว่า ทำไมเสี่ยเบนซ์ขับรถชนแล้วบวชได้ ถามว่าสังคมไทยได้อะไร?

●เหตุการณ์นี้ หลายคนประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นหลักร้อยล้าน จากการสูญเสียจักษุแพทย์เฉพาะทาง คิดว่าสังคมไทยได้บทเรียนอะไรบ้าง?
คนของเราไปเรียนจบจากต่างประเทศด้านหมอตา สาขาที่หายาก ผมเสียดาย รัฐบาลเคยเห็นความสูญเสียจากอุบัติเหตุจริงๆ หรือไม่ ว่า 20 ปีที่ผ่านมา เราเสียไป 200,000 คน 70% เป็นกำลังหลักของครอบครัว เราจะไปเอาความมั่นคง มั่งคั่ง มาได้จากไหน ถ้าไม่มองภาพนี้ให้แจ่มชัดด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ องค์ความรู้ด้านความปลอดภัยที่วิวัฒน์มายาวไกล และผมพร้อมจะช่วยให้คำปรึกษา

คุณมีทุกอย่าง แต่ทุกอย่างของคุณก็ยังเป็นเหมือนเดิม ผู้บริหารระดับสูง ท่านบอกว่านิ้วไหนร้ายก็จะตัด ท่านตัดไปกี่นิ้วแล้ว แต่ท่านเคยคิดมุมมองนี้หรือไม่ว่า ตำรวจของเราได้รับการฝึกในการขับขี่ และเดินข้ามถนนอย่างถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้าหากไปดู ตำรวจนอกจากจะเป็นผู้กระทำผิด ก็ถูกกระทำให้เสียชีวิตด้วยสาเหตุไม่ต่างจากกัน จำได้หรือไม่ ตำรวจเพิ่งออกจากเวร ตกทางด่วน ไม่ได้แต่งงาน นั่นก็นายสิบเหมือนกัน ไม่เห็นใครเรียกร้องหาความปลอดภัย

ในรายของคุณหมอ คิดคร่าวๆ อายุ 30 ทำงานอีกสัก 40 ปี เฉลี่ย 150,000/เดือน = 72 ล้านบาท เราสูญเสียคนที่มีขีดความสามารถขนาดนี้ ที่เราปลุกปั้นและลงทุนไป

●เพิ่มบทลงโทษช่วยได้จริงหรือ?
ไม่ใช่ถอดบทเรียนแค่ว่า ตำรวจประมาท ต้องยกระดับลงโทษให้หนักขึ้น การลงโทษที่ถูกต้องกับพฤติกรรมที่ถูกต้อง จึงจะสอดคล้องกัน

เช่น คุณเมาแล้วขับ ผมจับคุณติดคุก ยึดใบขับขี่แน่นอน รับรองว่าคนเมาแล้วขับจะหดหายไปจากประเทศไทย แต่ไปดูสิว่า ใครเมาแล้วขับคดีล่าสุด ร้อยตำรวจโท นายแพทย์ ขับรถใหม่เอี่ยมปอร์เช่ ไม่เห็นมูลนิธิอะไรมาร้องเรียน เพราะว่าเป็นตำรวจหรือ?

ชีวิตคนไทย บอกได้เลยว่า ถ้าเรายังวังวนอยู่กับการนำวิธีพิจารณาคดี มาเรียกร้องความยุติธรรมจากธรรมชาติแห่งความปลอดภัย ไม่มีวันได้เจอ เราไม่เห็นการจับมาลงโทษ เรามีคดีความอุบัติเหตุบนถนนอยู่นับ 100,000 คดี/ปี, ล้มตายเฉียด 20,000 คน บาดเจ็บ 1,000,000 ล้านคน, สูญเสีย 4-5 แสนล้านบาท/ปี แล้วทำไมเราถึงไม่สู้แบบโควิด สร้างภูมิคุ้มกันให้คนในเรื่องมนุษย์ปัจจัย

บอกตรงๆ ว่า ผมนิยมชมชอบคุณพ่อของคุณหมอกระต่าย ท่านเป็นนายแพทย์ที่ใจกว้างจริงๆ บอกว่า ผมโกรธ ทำไมต้องเกิดกับลูกของผม แต่ก็พร้อมจะให้อภัย หมายความว่า จริงๆ คุณพ่อยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในแบบที่ไม่มีใครเจตนา ทำไมสังคมไทยไม่ถอดบทเรียนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนในระยะยาว

ที่มา : https://www.matichon.co.th/

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved