ภัยเงียบ ครองเตียงรพ. "อุบัติเหตุ บาดเจ็บ รักษา"  


3 พ.ค. 2564 2548 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาความหวาดวิตกต่อสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ส่อเค้าวิกฤต ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ตามด้วยปัญหาสถานพยาบาลที่อาจไม่พอรองรับ หากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง

“เตียง”และ“บุคลากรการแพทย์”กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของวันนี้ที่หลายฝ่ายกังวล  เพราะไม่เพียงผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังมีผู้ป่วยอื่นที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในรพ.เช่นกัน

ในบรรดาความเจ็บไข้ได้ป่วยอาการบาดเจ็บบางอย่างป้องกันหรือลดโอกาสเกิดขึ้นได้“อุบัติเหตุทางถนน”คือหนึ่ง“ภัยเงียบ”ที่ถูกส่งเข้าระบบรักษาในโรงพยาบาลแต่ละวันจำนวนมากช่วงเวลาปกติอุบัติเหตุทางถนนอาจเป็นความคุ้นชินที่เห็นอยู่ทุกวันแต่ช่วงสถานการณ์“ไม่ปกติ”ผลพวงการบาดเจ็บกลายเป็นภาระหนักที่โรงพยาบาลต้องใช้ทรัพยากรทางการแพทย์หลายฝ่ายรับมือ

ข้อมูลจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เฉพาะพื้นที่กทม.ตั้งแต่เดือนม.ค.ถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยกรณีอุบัติเหตุเคลมประกันซึ่งพบว่ามีการใช้เตียงไปแล้ว 7,118  เตียง ขณะที่ข้อมูลรับแจ้งอุบัติเหตุตลอดปี 64 (ข้อมูล ณ วันที่ 26 เม.ย.)ทั่วประเทศมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสะสมแล้ว 5,200  ราย ส่วนผู้บาดเจ็บสะสมมี 337,758  ราย เฉลี่ยมีผู้บาดเจ็บต้องรักษาในโรงพยาบาลวันละ 2,814 ราย

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) สะท้อนความเป็นห่วงสถานการณ์ที่โรงพยาบาลต้องเผชิญข้อกำจัดทั้งบุคลากรและจำนวนเตียง ในขณะที่ทุกคนหากช่วยป้องกัน หรือลดความเสี่ยงอุบัติเหตุกับตัวเองได้ก็ไม่ต้องไปเป็นภาระเข้าสู่ระบบรักษาในโรงพยาบาลโดยต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาจำนวนอุบัติเหตุทางถนนและผลพวงที่เกิดขึ้นในกระบวนการรักษาสร้างภาระหนักกับงานบริการของโรงพยาบาล เนื่องจากกระบวนการหลักเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะเริ่มตั้งแต่ใช้รถกู้ชีพไปจุดเกิดเหตุห้องฉุกเฉิน ห้องเอ๊กซเรย์ ห้องแลป  ห้องผ่าตัด ไปจนถึงแอดมิทรักษาตัวในโรงพยาบาล

“คนป่วย 1 คนจากอุบัติเหตุ หากต้องเข้าโรงพยาบาลก็ต้องใช้เจ้าหน้าที่ตั้งแต่ไปจุดเกิดเหตุ ห้องฉุกเฉิน ห้องเอ๊กซเรย์  หรือบางกรณีต้องใช้แพทย์และห้องผ่าตัด กระบวนการเหล่านี้เป็นภาระงานรายทางของระบบกู้ชีพ ฉุกเฉิน ยังไม่รวมกรณีเมาขับจะยิ่งยุ่งยากมากขึ้น เพราะเมื่อมาถึงโรงพยาบาลเจ้าหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังป้องกันมากขึ้น เพราะมีสภาพสื่อสารไม่ค่อยรู้เรื่องอาจมีการตะโกนซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่มีความเสี่ยงมากขึ้น”

ทุกขั้นตอนไม่เพียงต้องใช้เจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล หลายส่วน แต่ผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่งต้องแอดมิทใช้เตียง เฉพาะพื้นที่กทม.ที่พบข้อมูลเคลมประกันในปี 64 ใช้เตียงไปแล้ว 7,118  เตียง หากลงลึกในรายละเอียดแต่ละวันจะมีผู้ป่วยแอดมิทไม่ต่ำกว่า 60-70 ราย  อีก 300 ราย เป็นผู้ป่วยนอก (OPD) ที่ไม่ต้องนอนรักษาตัวแค่บาดเจ็บเล็กน้อย ทำแผลแล้วกลับบ้านได้ 

อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มแอดมิทจะน้อยกว่าแต่ส่วนใหญ่ต้องแอดมิทไม่ต่ำกว่า 2 วัน สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนข้อสงสัยเรื่องเตียงหาย หรือมีจำกัด ส่วนหนึ่งเพราะต้องใช้ไปกับการบาดเจ็บที่ป้องกันได้อย่างกรณีอุบัติเหตุ ยกตัวอย่างอุบัติเหตุทางถนน 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ปี 64  มีรถกู้ชีพต้องออกไปช่วยผู้ป่วยในจุดเกิดเหตุมากถึง 8,297 ราย มีผู้บาดเจ็บเข้าระบบรักษา 18,078 ราย เป็นผู้ป่วยแอดมิทใช้เตียง 3,470 เตียง   

ปัจจุบันหลายคนตระหนักเรื่องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 ในทางกลับกันสาเหตุใหญ่อุบัติเหตุเกิดจากรถจักรยานยนต์(จยย.) และการไม่สวมหมวกกันน๊อคคือส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณศรีษะ ต้นเหตุอาการหนักและต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน

ดังนั้น นอกจากสวมหน้ากากอนามัย หากแต่ละคนเข้มงวดกับตัวเองให้สวมหมวกกันน๊อคเพิ่มขึ้นได้ ไม่เพียงโอกาสรอดของตัวเอง แต่ยังเพิ่มโอกาสรอดให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับการรักษาจากอาการบาดเจ็บที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ

ที่มา:https://www.dailynews.co.th/

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved