16 ปี ฝ่าไฟแดงชนบัณฑิตจบใหม่ .. ต้องอุดช่องโหว่จุดใด ไม่ให้ซ้ำรอย  


6 ต.ค. 2565 5362 แผนงาน : เด็กและเยาวชน   


ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)

          เป็นอีกครั้ง ของอุบัติเหตุจากเด็กวัยรุ่นอายุไม่มีใบขับขี่ อายุเพียง 16 ปี ทำให้มีเหยื่อซึ่งเป็นบัณฑิตจบใหม่ ที่กำลังเป็นเสาหลักครอบครัวต้องเสียชีวิต ซึ่งความสูญเสียลักษณะนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยครอบครัวก็ต้องอาศัยการเยียวยาที่ช่วยชดใช้จากจำเลย แม้ตำรวจจะระบุตั้งข้อหาหนัก (1) ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เสียชีวิต (2) ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ และ (3) ไม่มีใบขับขี่ แต่ในความเป็นจริงถ้าสารภาพ 2 ข้อหาหลังก็โทษปรับหลักพันบาท ส่วนข้อหาแรก เกือบทุกรายก็รอลงอาญา

          จะว่าไปแล้ว เหตุลักษณะนี้ตั้งแต่กรณีเคสแพรวา (17 ปี ขับรถยนต์ เฉี่ยวชนรถตู้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย) คนในสังคมก็ส่งเสียงทั้งต่อ “ครอบครัว-ชุมชน” และหน่วยงานรัฐให้มีมาตรที่จริงจังเพื่อทำให้ปัญหาลดน้อยเบาบางลง แต่ถ้าพิจารณาจากข้อมูลการใช้สิทธิประกันภัย ระบบ e-claim บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สะท้อนผลกระทบที่น่าห่วงใย เฉพราะปีนี้ เพียง 9 เดือนที่ผ่านมา (1 ม.ค. - 30 ก.ย. 2565) ก็มีการใช้สิทธิผู้ประสบเหตุเสียชีวิตจากผู้ขับขี่อายุ < 18 ปี สูงถึง 113 ราย (เฉลี่ย 12 ราย/เดือน) บาดเจ็บอีก 4,507 ราย ซึ่งถ้านับรวมผู้ประสบเหตุจากรถจักรยานยนต์ร่วมด้วย จะมีผู้เสียชีวิตสูงและบาดเจ็บถึง 92,315 ราย พิการอีก 103 ราย หรือในกรณีที่เป็นข่าวในหน้าสื่อ ก็พบได้เนื่อง ๆ อาทิ

  • 12 สิงหาคม 2565 :  นักเรียนทำพานวันแม่ ขับรถกลับบ้านเสียหลัก ชนเสาไฟฟ้าเสียชีวิต 1 ราย เจ็บ 7 ราย โดยพบว่าทั้ง 8 คนอายุเพียง 16-17 ปีเป็นนักเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว   : https://www.dailynews.co.th/news/1352937/  
  • 8 มกราคม 2565 : อุทาหรณ์! เด็กอายุ 17 ปี ควบรถยนต์ ซิ่งชนคนตาย เตือนพ่อ-แม่อย่างประมาท  https://www.brighttv.co.th/social-news/accident-hit-the-dead-example
  • 16 กรกฎาคม 2565 : เด็กอายุ 16 ปี ขับรถพ่อมาส่งเพื่อน เกิดหลับในชนเกาะกลาง หงายท้องกลางถนน  https://www.one31.net/news/detail/56428

          จะเห็นได้ว่า ความพยายามสื่อสารรณรงค์ไปที่ผู้ปกครอง แม้จะเป็นเรื่องสำคัญแต่ไม่เพียงพอที่จะป้องกันและลดปัญหาลักษณะนี้ได้ ต้องเพิ่มมาตรการและการจัดการของหน่วยงานต่าง ๆ ในสังคมให้ลุกขึ้นมาจริงจังกับปัญหานี้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักให้ผู้ปกครองหรือคนมีรถยนต์ ต้องระมัดระวังไม่ปล่อยให้เด็กเยาวชนที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ หรือไม่ผ่านการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ก่อนจะมาขับรถยนต์บนถนน

          เป็นที่ทราบกันดีว่า เด็กวัยรุ่น 15-17 ปีแม้ทางสรีระจะดูเหมือนผู้ใหญ่ แต่ด้วยความที่เป็นวัยรุ่น มีธรรมชาติในด้านทางอารมณ์ที่มีความคึกคะนอง ชอบความท้าทาย (risk taking) มากกว่าการคิดไตร่ตรองยับยั้งชั่งใจ อีกทั้งยังเป็นวัยที่มีการเข้าสังคมและรับอิทธิพลกลุ่มเพื่อนได้สูง เพราะต้องการยอมรับในกลุ่มเพื่อน (social emotion) ซึ่งก็จะทำให้มีโอกาสพบเห็นมีพฤติกรรมเสี่ยงในกิจกรรมต่างๆ เช่นการแข่งกีฬา ดูคอนเสริต ยิ่งถ้ามีแอลกอฮอล์ร่วมด้วยจะเพิ่มโอกาสพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะการขณะขับขี่ยานพาหนะ

          หลายประเทศจะมีหลายมาตรการเพื่อรองรับกลุ่มวัยรุ่นที่จะมาขับขี่ (young driver) เช่น ยานพาหนะที่เสี่ยงสูงก็ต้องรออายุถึงเกณฑ์ (มีวุฒิภาวะ) อย่างจักรยานยนต์ บิ๊กไบค์ ซีซี สูงๆ (เกิน 400cc) ก็ต้องหลังอายุ 20 ปี และเพิ่มเงื่อนไขต้องผ่านการสอบใบขับขี่เฉพาะ หรือหลายๆ ประเทศจะใช้ระบบการออกใบขับขี่แบบเป็นขั้นเป็นตอน (Graduate Driver Licensing: GDL) คือผ่านขั้นตอนแรก ก็เป็น learner (L) ก่อน (พร้อมกำหนดเงื่อนไขพื้นฐาน สำหรับกลุ่ม L เช่น ไม่ให้ขับขี่กลางคืนคนเดียว ห้ามขับข้ามรัฐ ต้องมีผู้ดูแล (under supervision) หรือ ระดับแอลกอฮอล์กลุ่มนี้ต้องเป็นศูนย์) 

          บางประเทศถึงขั้นกำหนดให้การขับขี่โดยไม่มีทักษะ (ไม่มีใบขับขี่) เป็นเรื่องใหญ่  เป็นข้อหาที่รุนแรงมิใช่คดีลหุโทษแบบบ้านเรา เช่น ประเทศญี่ปุ่น ได้แก้กฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้ กรณีความผิดต่อไปนี้ไม่ถือเป็นเพียงโทษประมาท แต่ถือเป็น “ขับขี่อันตราย” และมีโทษอาญา ได้แก่ (1) ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ ไม่มีทักษะ (2) ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร เช่น ฝ่าไฟแดง ย้อนศร ฯลฯ (3) ขับเร็วและจี้คันหน้า (4) เมาแล้วขับ  ซึ่งทั้ง 4 ข้อหานี้ถ้าทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ยิ่งมีบทลงโทษที่รุนแรง จำคุกถึง 15 ปี 

          บ้านเรามีข้อกำหนดไว้กว้างๆ ถ้าทำใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ต้องอายุไม่น้อยกว่า 18 ปี ถ้าเป็นใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ อนุโลมให้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป โดยให้เป็นแบบชั่วคราว (15-18 ปี ขี่ได้ไม่เกิน 110 cc ) หรือถ้าขี่เกิน 400 cc ต้องผ่านการอบรมจากผู้ประกอบการมาก่อน ในทางปฎิบัติก็จะพบว่าแทบไม่ถูกนำมาปฎิบัติแบบจริงจัง อย่างกรณีรถยนต์การตรวจสอบอายุผู้ขับขี่แบบจริงจังน้อยมาก หรือถ้าตรวจพบก็เพียงโทษปรับ 1,000 บาท ไม่มีการเรียกให้ผู้ปกครองหรือเจ้าของรถต้องมาร่วมรับผิดชอบอย่างเป็นระบบ ทำให้เด็กวัยรุ่นและหลายครอบครัวไม่ตระหนักว่าเป็นเรื่องที่มีผลกระทบสูง   

          นอกจากนี้ จะพบว่าผู้ขับขี่อายุน้อย (young driver) ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในทางปฎิบัติสำหรับผู้ปกครอง โดยเฉพาะพ่อแม่จำนวนหนึ่งก็ไม่ได้อยู่ดูแลเด็ก (เป็นเครือญาติดูแล) ทำให้การกำกับเรื่องการนำรถหรือจักรยานยนต์ ออกไปขับขี่ทำได้จำกัด ยิ่งถ้าเป็นรถจักรยานยนต์ บางครั้งเด็กก็จะขอให้พ่อแม่ซื้อให้ประจำตัวไว้เลย 

          ดังนั้น จำเป็นที่ต้องมีการทบทวนระบบจัดการในเรื่องนี้ ตั้งแต่ระดับครอบครัวและหน่วยงานรับผิดชอบให้สามารถดำเนินการได้จริง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบลง ได้แก่

  1. ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ควรหยิบยกปัญหานี้เพื่อทบทวนมาตรการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ

  • ให้มีการรณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้จนเกิดเป็นบรรทัดฐาน (social norm) ของสังคมว่า “ไม่ยอมรับกรณีที่ผู้ปกครองปล่อยปละละเลยให้ลูกที่อายุไม่ถึงเกณฑ์” ออกไปขับขี่ และถ้าเกิดเหตุชนคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต้องมีความรับผิดชอบร่วมด้วยเสมอ

  • นอกจากการกำกับจากครอบครัว ก็ควรส่งเสริมบทบาทท้องถิ่น-ชุมชน หน่วยงานองค์กรให้มีส่วนร่วมเฝ้าระวัง สอดส่องดูแลและป้องกัน ห้ามปรามมิให้มีเด็กเยาวชนที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ออกมาขับขี่ ทั้งนี้ อาจต้องอาศัยมาตรการทางสังคม (ประชาคม-ข้อกำหนดชุมชน-หมู่บ้าน) พบเห็นก็มีการว่ากล่าวตักเตือนด้วยความห่วงใย

  • ในกรณีมีเด็กเยาวชน อายุ <18 ปีไปทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือมีผู้ประสบภัย ต้องมีการสอบสวนวิเคราะห์สาเหตุเชิงลึกด้วยเสมอ พร้อมทั้งนำมาทบทวนเพื่อปรับปรุงแนวทางปฎิบัติให้สอดคล้องและเหมาะสมกับปัญหามากขึ้น

  1. กรมการขนส่งทางบก

  • เร่งรัดให้มีระบบการออกใบอนุญาตขับขี่แบบเป็นขั้นเป็นตอน (Graduate Driver Licensing: GDL) จะช่วยลดความเสี่ยงของผู้ขับขี่กลุ่มเด็กวัยรุ่น ให้มีการกำกับดูแลเตรียมความพร้อมอย่างเป็นขั้นเป็นตอนก่อนมาขับขี่บนถนนจริง

  • กรณีรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่เด็กวัยรุ่น <18 ปี ใช้โดยไม่มีใบขับขี่และพบมีผู้ประสบภัยจากข้อมูลระบบ e-claim บ.กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เสียชีวิตสูงถึง 940 ราย บาดเจ็บถึง 91,280 ราย พิการอีก 95 ราย จึงควรพิจารณาให้ทุกครั้งที่มีการซื้อขายรถจักรยานยนต์ ต้องมีการตรวจสอบการมีใบอนุญาตขับขี่ ของผู้ใช้รถจักรยานยนต์เสมอ

  • พิจารณาให้เจ้าของรถยนต์ที่ปล่อยปละละเลย ให้เด็กวัยรุ่นที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ ต้องร่วมรับผิดชอบในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การเพิกถอนทะเบียน ถ้าปล่อยให้รถยนต์ที่ครอบครองไปทำให้มีผู้เสียชีวิต

  1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

  • เพิ่มการจริงจังกับการตรวจสอบอายุผู้ขับขี่ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และถ้าเกิดกรณีเด็กวัยรุ่นขับขี่แล้วเกิดอุบัติเหตุ จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต้องมีการตรวจสอบสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยอื่นๆ เช่น วัดระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดทุกราย การได้ยานพาหนะมาขับขี่ เป็นต้น พร้อมทั้งมีการเชื่อมโยงไปสู่ความรับผิดชอบผู้ปกครองด้วยเสมอ 

  • แจ้งสิทธิ์เพื่อให้โจทก์ผู้เสียหาย รับรู้สิทธิ์ในการยื่นฟ้องแพ่งร่วมไปด้วย เพราะถ้าปล่อยให้คดีอาญาดำเนินการไปแล้ว จะมีขั้นตอนและระยะเวลาอีกนานจึงจะเริ่มกระบวนการฟ้องแพ่งได้

  • พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย (พรบ.จราจรทางบก) กรณีไม่มีใบขับขี่ให้ถือเป็นโทษที่รุนแรงมากกว่าลหุโทษและต้องถูกดำเนินคดี รวมทั้งถ้าพบมีความผิดอื่นร่วมด้วยเช่นกรณีนี้มีฝ่าฝืนสัญญาณจราจร ก็ต้องถือว่าเป็นโทษที่รุนแรงมิใช่เพียงเสียค่าปรับ อาจจะรวมถึงการพิจารณายึดรถร่วมด้วยเพื่อให้เจ้าของรถต้องเพิ่มความระมัดระวัง

          กล่าวโดยสรุปแล้ว การอุดช่องโหว่เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้ต้องซ้ำซาก ซ้ำรอยมิรู้จบ ต้องดำเนินการควบคู่กับไปทั้ง สร้างกระแสสังคม สร้างความตระหนักให้ผู้ปกครองหรือผู้ถือครองรถต้องจริงจังและรับผิดชอบกับเหตุลักษณะนี้ ที่สำคัญ “ระบบกำกับดูแลและโยงรับผิดชอบ” ของหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ จะต้องยกเครื่องเพื่อให้การจัดการปัญหาวัยรุ่นขับขี่จนเป็นเหตุมีผู้ประสบภัย สามารถจัดการได้อย่างเป็นระบบ และทุกความสูญเสียต้องได้รับการเยียวยาและมีผู้รับผิดชอบ   

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved