แรงงานพม่า 2 ปี ตายกว่าครึ่งร้อย.. ความสูญเสียที่รอคอยการแก้ไข
แรงงานพม่า 2 ปี ตายกว่าครึ่งร้อย.. ความสูญเสียที่รอคอยการแก้ไข
อุบัติเหตุที่เกิดกับการขนย้ายแรงงานต่างด้าว ในเส้นทางจังหวัดต่างๆ พบได้ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถ้านับเฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มียอดผู้เสียชีวิตของแรงงานต่างด้าวกว่าครึ่งร้อย
จากอุบัติเหตุเมื่อเวลา 7 น. เช้าวันที่ 21 ตุลาคม 61 รถตู้บรรทุกแรงงานชาวพม่าพร้อมคนขับจำนวน 15 คน จาก จ.เพชรบุรี เพื่อมาที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ในขณะนั้นมีฝนตกและสันนิษฐานเบื้องต้นว่าคนขับหลับใน ทำให้รถเสียหลักชนต้นไม้ข้างทาง เกิดเพลิงลุกไหม้และมีผู้เสียชีวิตถึง 11 ราย http://www.komchadluek.net/news/crime/348966
อุบัติเหตุที่เกิดกับการขนย้ายแรงงานชาวพม่า ในเส้นทาง อ.แม่สอด กับ จังหวัดต่าง ๆ พบได้ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถ้านับเฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบยอดผู้เสียชีวิตของแรงงานพม่ากว่าครึ่งร้อย (รวม 4 เหตุการณ์ 52 ศพ) โดยมีลำดับเหตุการณ์ ดังนี้
1. รถตู้ 2 ครั้ง เสียชีวิต 25 ศพ เป็นการเดินทางกลางคืนและเกิดเพลิงไหม้ทั้ง 2 ครั้ง
• 21 ตค. 61 น. ที่ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร เกิดเพลิงไหม้ เสียชีวิต 11 ศพ (เหตุการณ์ครั้งนี้)
• 24 พย. 60 น. ที่ จ.สิงหบุรี ชนท้ายรถบรรทุก เกิดเพลิงไหม้ เสียชีวิต 14 ศพ
2. รถบัส 2 ครั้ง เสียชีวิต 27 ศพ
• 30 มีค. 61 อ.เมือง จ.ตาก เกิดเพลิงไหม้ เสียชีวิต 21 ศพ
• 9 เมย. 61 อ.เมือง จ.ตาก รถบัส 2 ชั้นเสียหลัก เสียชีวิต 6 ศพ
จากภาพรวมของเหตุการณ์ บ่งชี้แบบแผนความเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่
• คนขับรถคนเดียว เดินทางระยะไกล (เกิน 400 กม.) ในช่วงกลางคืน ทำให้เสี่ยงต่อ “หลับใน”
• หลีกเลี่ยงการเปิดใช้อุปกรณ์ GPS ซึ่งจะช่วยตรวจสอบชั่งโมงการทำงานและการใช้ความเร็วที่เกิดกำหนด
• มีการบรรทุกแรงงานเกินจำนวนที่นั่ง ซึ่งจะมีผลต่อการใช้เข็มขัดนิรภัย
• รถตู้ที่เกิดเหตุทั้ง 2 ครั้ง เกิดเพลิงลุกไหม้หลังการชน ประกอบกับการช่วยเหลือจากช่องทางประตูท้ายรถ ไม่สามารถทำได้
นอกจากมาตรการที่มีบทลงโทษกับคนขับและผู้ประกอบการในกรณีนี้ มีข้อพิจารณาที่สำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียในลักษณะนี้ ได้แก่
1. กรมการขนส่งทางบก พิจารณามาตรการในด้าน
a. การเพิ่มบทลงโทษผู้ประกอบการที่แรงขึ้น เช่น การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการ ส่วนรถที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต้องไม่อนุญาตให้นำเลขทะเบียนมาใช้กับรถใหม่ได้อีก เพื่อให้ผู้ประกอบการต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบและสร้างระบบควบคุมกำกับความปลอดภัยของรถที่อยู่ในความดูแล
b. เร่งรัดให้ผู้ประกอบการรถขนส่ง (บรรทุกคนและบรรทุกของ) มีบุคลากรที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยทางถนน (Transport Safety Manager) โดยหน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการควบคุมกำกับด้านความปลอดภัย เช่น การทำงานเกินเวลา การใช้ความเร็วเกินกำหนด การบรรทุกเกิน รวมทั้งการตรวจสภาพความพร้อมของรถและอุปกรณ์นิรภัย
c. จัดให้มีระบบแจ้งให้ผู้โดยสารทราบตำแหน่งอุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น ค้อนทุบกระจก การเปิดประตูท้ายรถก่อนออกเดินทางทุกครั้ง
d. มีระบบสืบสวนสาเหตุและกำหนดมาตรการป้องกัน เช่น สาเหตุที่ทำให้รถเกิดเพลิงไหม้ มาจากสาเหตุใด และจะป้องกันอย่างไร , พร้อมทั้งทะเบียนประวัติผู้ประกอบการที่มีอุบัติเหตุซ้ำ ๆ เพื่อประกอบพิจารณาต่อใบอนุญาตประกอบการ
2. หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ได้แก่
a. กระทรวงแรงงาน ควรทบทวนระบบและมาตรการต่อทะเบียนการทำงานของแรงงานต่างด้าว โดยหลีกเลี่ยงการต้องเดินทางกลับมาต่อทะเบียนที่ชายแดน (อ.แม่สอด)
b. ตำรวจ ตม. (ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง) มีระบบตรวจสอบการบรรทุกเกินซึ่งพบอยู่เป็นประจำ
ทุกชีวิตไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างด้าว ล้วนแล้วแต่มีครอบครัวญาติพี่น้อง ที่ห่วงใยและต้องคอยดูแล ถ้าตราบใดที่ระบบกำกับดูแลยังขาดประสิทธิภาพ เหตุการณ์ความสูญเสียลักษณะนี้ก็มีโอกาสที่จะเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ที่มา: https://www.isranews.org/isranews-article/70521-road-70521.html