EP.2 ถอดโครง "รถบัส" ไขปริศนา อุบัติเหตุชนคล้ายถูก "ผ่าซีก"  


15 ธ.ค. 2566 2753 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


รถบัสแบบแซสซี มีจุดอ่อนสำคัญ คือ ถ้าจุดชนเริ่มจากส่วนหัวด้านใดด้านหนึ่งและจุดที่ชนไม่ปะทะเข้ากับแซสซีโดยตรง จะทำให้เกิดการครูดด้านข้างของแซสซีจากหน้าสุดมาถึงตรงกลางรถ หรืออาจจะไปถึงหลังรถได้ เพราะไม่มีส่วนที่แข็งแรงของโครงสร้างมารองรับการปะทะไว้เลย

โครงสร้างของรถบัสโดยสารในประเทศไทย คือ หนึ่งในปัจจัยใหญ่ที่ทำให้เกิดความสูญเสียเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถบัส มุมมองของ วันชัย มีศิริ ผู้จัดการบริษัท บางกอกไฮแล็บ จำกัด ในฐานะนักวิศวกร วิเคราะห์ความสูญเสียจากเหตุรถโดยสารแบบ 2 ชั้น เส้นทาง กรุงเทพฯ-นาทวี(จ.สงขลา) พุ่งชนต้นไม้ที่บริเวณ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ช่วงรอยต่อคืนวันที่ 4-5 ธันวาคม 2566 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 คน โดยระบุว่า หากเปรีบเทียบโครงสร้างของรถบัสที่ประกอบในไทยพบว่ามีโอกาสเกิดความสูญเสียมากรถบัสที่ประกอบมาจากต่างประเทศ

"หากวิเคราะห์สภาพรถบัสคันที่เกิดเหตุ เห็นได้ว่า คล้ายถูกผ่าออกเป็น 2 ซีก หลังจากที่พุ่งชนเข้ากับต้นไม้ข้างทาง สาเหตุเพราะรถ ใช้โครงสร้างแบบแซสซี (ดูภาพประกอบ) คือ มีลักษณะเป็นคานแข็งๆเหมือนกระดูกสันหลังอยู่ที่กลางตัวรถเพียงชิ้นเดียว ดังนั้นหากพุ่งเข้าชนด้านหน้า รถคันนี้จะมีส่วนที่แข็งแรงพอจะรับแรงปะทะได้เฉพาะช่วงกลางของตัวรถเท่านั้น แต่เหตุการณ์นี้รถฟุ่งเข้าชนต้นไม้จากหน้ารถด้านซ้าย ทำให้ฝั่งซ้ายเสียหายอย่างหนัก และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็โดยสารที่ฝั่งซ้าย นั่นเป็นเพราะมีแซสซีตรงกลางรถรับแรงปะทะป้องกันฝั่งขวาไว้ได้มากกว่า” วันชัย อธิบาย

“แซสซี เป็นเทคโนโลยีเก่าของญี่ปุ่นที่เขาโละทิ้งแล้ว แต่ในไทยยังต้องใช้อยู่”

วันชัย อธิบายสาเหตุที่รถบัสโดยสารในประเทศไทยยังคงใช้เทคโนโลยีเดิมๆในการประกอบรถว่า แม้จะมีเทคโนโลยีใหม่ที่ปลอดภัยกับผู้โดยสารมากกว่าแต่ผู้ประกอบการประกอบรถบัสใหญ่ ยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง และไม่ได้หมายถึงเฉพาะรถบัส 2 ชั้น แต่รวมรถบัสทั้งหมด จริงๆการประกอบรถบัสก็มีพัฒนาการของโครงสร้างเพื่อความปลอดภัยเหมือนรถยนต์ คือ มี 2 รูปแบบ แบบที่หนึ่งเป็นรูปแบบเดิมที่ใช้โครงสร้างแบบแซสซีอย่างที่อธิบายไปแล้วว่ามีโอกาสจะเกิดความสูญเสียมากเมื่อเกิดการชนด้านหน้า เพราะเพียงแค่นำบอดี้รถมาครอบโครงสร้างที่เป็นคล้ายคานตัวเดียวอยู่ที่กลางรถเท่านั้น

ตัวอย่างผังที่นั่ง ชนฝั่งซ้าย ฝั่งซ้ายจะตายเยอะ กรอบสีแดงตือ โครงแซสซี

ตัวอย่างผังที่นั่ง ชนฝั่งซ้าย ฝั่งซ้ายจะตายเยอะ กรอบสีแดงตือ โครงแซสซี

ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า โครงสร้างรถบัสแบบ Monocoque หรือ ทำให้โครงสร้างเป็นลักษณะเดียวกับบอดี้รถที่ครอบคลุมเป็นชิ้นเดียวทั้งคัน เมื่อเกิดการชนก็จะมีส่วนที่แข็งไว้รองรับแรงปะทะอยู่ทุกส่วนของตัวรถ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียจากที่เป็นอยู่ในปัจุบันไปได้มาก ... โดยเทคโนโลยีนี้ใช้กันมาประมาณ 15-20 ปีแล้วในหลายประเทศ แต่ไทยยังมีปัญหาในการเปลี่ยนผ่าน

ปัญหาที่ วันชัย หมายถึงคือ ความพร้อมของโรงงานประกอบรถบัสในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดมีสถานะเป็นกลุ่ม SME มีทุนอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้ยังต้องใช้วิธีการประกอบรถบัสแบบดั้งเดิม เพราะหากจะเปลี่ยนไปผลิตหรือประกอบรถโดยใช้โครงสร้างแบบ Monocoque ก็จะต้องลงทุนสร้างโรงงานขึ้นมาใหม่เลย ซึ่งต้องมีทุนตั้งต้นในการสร้างโรงงานอย่างน้อยสูงถึง 3,000 ล้านบาท

"ปัจจุบันผู้ประกอบการประกอบรถบัสในบ้านเรามีแต่ SME ก็ใช้วิธีที่ทำได้คือไปสั่งซื้อแซสซีเก่าของญี่ปุ่นมาจากเซียงกง แล้วนำมาประกอบ ตกแต่งเป็นรถใหม่ ส่วนการประกอบรถโดยใช้โครงสร้างแบบ Monocoque ก็มีอยู่บ้างในไทย แต่จะเหลือแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2-3 รายเท่านั้นที่ทำได้ ซึ่งถ้าเราบังคับให้เปลี่ยนทันทีเลย ก็อาจจะกลายเป็นการผูกขาด"

"และการเปลี่ยนผ่านก็มีความยากลำบาก เพราะความปลอดภัยมันยังวิ่งสวนทางกับศักยภาพของผู้ประกอบการ และหากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะแก้ไขปัญหานี้ ก็ต้องวางแผนการเปลี่ยนผ่านระยะยาวให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว เพื่อให้เห็นรูปธรรมในอีก 5-10 ปี จากนี้ไป" วิศวกร วันชัย เสนอแนวทางระยะยาวที่รัฐบาลควรทำ

แม้จะมองเห็นปัญหาในด้านความปลอดภัยจากโครงสร้างรถบัสแล้ว แต่ในเมื่อยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างของรถบัสโดยสารในประเทศไทยได้โดยเร็ว ในมุมมองทางวิศวกรรมของวันชัย จึงมีข้อเสนอที่ภาครัฐสามารถทำได้ทันทีเพื่อลดความสูญเสียจากเหตุการณ์เช่นนี้ได้ คือ การทำให้ "ไม่มีจุดปะทะ" อยู่ที่ข้างทาง

"รถคันที่เกิดเหตุ พุ่งชนต้นไม้ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 92 เซนติเมตร ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ขนาดใหญ่และเนื้อแข็งมาก เราจะเห็นได้ว่ารถบัสพังยับเยิน ถูกผ่าออกเป็น 2 ซีก แต่ต้นไม้ไม่เป็นอะไรเลย นั่นหมายความว่า ต้นไม้ใหญ่ข้างทางคล้ายเป็นกับดักที่ไปทำให้ความสูญเสียจากการที่รถไถลลงข้างมากมันรุนแรงขึ้นไปอีกมาก ซึ่งตามหลักวิศวกรรมการจราจรขนส่งแล้ว ไม่ควรมีต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง หรือวัตถุแข็งๆอยู่ที่ข้างทาง ซึ่งรถบัสที่ใช้ก็ไม่สามารถรับการปะทะได้ เมื่อไปเจอกับต้นไม้ขนาดใหญ่อีก ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสสร้างความสูญเสียมากขึ้นไปอีกหลายเท่า แต่ถ้าเราเปลี่ยนต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ เป็นพุ่มไม้เตี้ยๆ ไม่มีลำต้นแข็งๆ ยังให้ความเป็นสีเขียวได้เหมือนเดิม แต่หากมีรถไถลลงข้างทางไปแบบนี้ แล้วไถลลงไปโดยไม่เกิดการชน ก็จะเกิดความสูญเสียต่อผู้โดยสารน้อยกว่านี้มาก"

วันชัย บอกว่า อยากขอเสนอให้ปลูกไม้พุ่มเสริมก่อน แล้วค่อยๆทยอยนำต้นไม้ใหญ่ออกไป ที่ผ่านมาเคยมีข้อเสนอให้นำต้นไม้ใหญ่ออกจากข้างทางมานานแล้วแต่ทำไม่สำเร็จ เพราะหน่วยงานนรัฐมักจะไปตัดต้นไม้ใหญ่ออกทีเดียวหมดทำให้ประชาชนไม่เข้าใจและออกมาต่อต้าน ดังนั้นหากจะเปลี่ยนแปลงพื้นที่ข้างทางให้ปลอดภัยเพิ่มขึ้น ก็ต้องทำอย่างมีกลยุทธ์และสร้างความเข้าใจกับประชาชนด้วย

นอกจากนี้ ควรเพิ่มศักยภาพการรับแรงปะทะของรถ และกำจัดจุดที่มีโอกาสทำให้เกิดการปะทะออกจากเส้นทาง คือ ความปลอดภัยมากขึ้นของผู้โดยสารรถบัส ไม่ว่าจะเป็นรถประจำทางหรือรถทัศนาจร

ข้อเสนอทั้ง 2 ประเด็นนี้ ยังเป็นข้อเสนอจากมุมมองทางวิศวกรรมที่มีโอกาสทำให้การเดินทางโดยรถบัสโดยสารของคนไทย มีความปลอดภัยมากขึ้นได้จริง หากมีแรงขับเคลื่อนทางนโยบายมาจากรัฐบาล

 

ที่มา .. https://www.thaipbs.or.th/news/content/334885

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved