เพิ่มแรงกระเพื่อมเมาขับชน ปลดวังวน ‘ประมาท’ รอดคุก  


13 พ.ย. 2565 6166 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


เชื่อว่าหลายความคิดเห็นในสังคมมีข้อสงสัย ทำไมพฤติกรรม “เมาขับ” ยังเห็นเกลื่อนกลาด ทั้งที่กฎหมายเพิ่มบทลงโทษเข้มงวดขึ้น อย่างล่าสุด พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 กำหนดให้ผู้ใดกระทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี (นับจากความผิดครั้งแรก) ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้

“ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถามแง่มุมปัญหาเมาขับที่ยังไม่ลด “ดีกรี” พร้อมข้อเสนอแนะน่าสนใจจาก นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันสังคมยังมอง “เมาขับ” 2 กลุ่มปนกัน กลุ่มแรกเป็นเมาขับที่ไม่ได้ชนใคร กลุ่มนี้สำรวจพบว่ามีจำนวนมาก และ 1 ใน 5 มีทัศนคติว่า แม้ดื่มแล้วแต่ยังมีสติขับรถได้ กินแค่นิดเดียวไม่มีผล และ 1 ใน 4 พบมีพฤติกรรมดื่มขับในรอบ 1 เดือน ส่วน กลุ่มสองเป็นเมาขับและชนคนตาย/บาดเจ็บ แต่เนื่องจากกลุ่มแรกมีจำนวนมาก ทำให้เมื่อพูดถึงเมาขับจึงมองรวมกัน

นี่เป็นอีกจุดที่ทำให้ความตระหนักเมาขับไทยและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ต่างกัน…

ผู้จัดการ ศวปถ. ระบุ เพราะเส้นแบ่งบางๆ จนแทบไม่แบ่ง และเหมารวมคนเมาขับว่าเห็นทุกวัน ไปงานกินเหล้าเรื่องปกติ กลายเป็นเรื่องเล่นๆ การที่เราไม่แยกกลุ่มเมาขับที่ไม่ได้ชนใครออกมา ทำให้กลุ่มเมาขับที่ชนคนเลยเหมือนเล่นๆ ไปด้วย แต่ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ลุยกลุ่มเมาขับชนคนก่อน ซึ่งส่วนตัวมองว่าประเทศไทย อาจต้องลุยกับกลุ่มที่ชนคนก่อนเช่นกัน

เนื่องจากกลุ่มไม่ชน เป็นกลุ่มใหญ่มีจำนวนมาก การจัดการอย่างเด็ดขาดอาจยังไม่มีความพร้อมมากพอ เช่น ด่านตรวจ ขณะที่ภาพสังคมขณะนี้ เริ่มมีกระแสไม่เอาเมาขับชนคนตาย ยกตัวอย่าง กรณีนักฟุตบอลดาวรุ่งที่ถูกต้นสังกัดลงโทษ

หากลุยกับกลุ่มเมาขับชนคนก่อน น่าจะสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงกลุ่มเมาขับกลุ่มใหญ่ได้!!!    

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า กลุ่มเมาขับชนคนตาย มีอุปสรรคสำคัญที่ต้องพิจารณาคือข้อกฎหมายที่ถูกมองเป็น “ความประมาท” ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 (ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท) กระบวนการต่อสู้คดีจะรู้กันว่าหากเข้าไปเยียวยา ไปช่วยเหลือ หรือให้การรับสารภาพ ก็เป็นเหตุให้บรรเทาโทษ

การที่สังคมยังแยกกลุ่มเมาขับไม่ออก และยิ่งเมาขับชนคนตายแล้วกฎหมายมีแนวทางชี้ไปที่ความประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งทนายก็รู้ดีว่าหากพนักงานสอบสวนฟ้องข้อหานี้แค่ให้ลูกความรับสารภาพ ไปช่วยเหลือ ไปร่วมงานศพ ไปจนถึงขอบวช เพื่อให้เห็นถึงการเยียวยาก็จบ นอกจากนี้ ตามมาตราดังกล่าวมีแนวฎีกาชี้ว่าเป็นบทลงโทษหนักสุด แต่ปัญหาคือมาตรา 291 โทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หากรับสารภาพลดลงกึ่งหนึ่ง เหลือ 5 ปี ซึ่งอัตราโทษนี้ อยู่ในดุลพินิจที่ศาลให้รอลงอาญาได้

ภาพของโทษเมาขับชนคนตายจึงวนกลับมาที่รอลงอาญา…

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้จัดการ ศวปถ. มองว่าเรื่องนี้ศาลถือเป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างความสมดุลทั้งเหยื่อ จำเลย และสังคม โดยเฉพาะมิติสังคมที่ยังหายไป พร้อมยกตัวอย่างบทบาทของศาลในหลายประเทศที่พิสูจน์แล้วว่า การลงโทษหนักในคดีเมาขับ สามารถสร้างแรงกระเพื่อมถึงต้นน้ำอย่างสังคมได้ แต่ขณะนี้สังคมไม่ได้รับอะไรจากเหยื่อที่มีทุกวัน เพราะการตายถูกสรุปให้เป็นความประมาท เป็นเหตุสุดวิสัย

อย่างไรก็ตาม สัญญาณดีข้อหนึ่งขณะนี้ คือการที่สังคมเริ่มตื่นตัวและมีบรรทัดฐานใหม่ๆ “ไม่เอาเมาขับชนคนตาย” เมื่อบางครั้งข้อกฎหมายต้องต่อสู้กันนาน สิ่งที่สังคมทำได้เลย จึงอยู่ที่ท่าทีการส่งสัญญาณของต้นสังกัด 

สำหรับข้อสงสัยที่มองกันว่าเมาขับมีโทษจำคุกแต่ไม่ได้ถูกใช้จริง ผู้จัดการ ศวปถ. ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการผลักดันให้แก้โทษเมาขับ จากจำคุกไม่เกิน 10 ปี เป็นไม่เกิน 15 ปี เพื่อให้แม้รับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งก็ยังเหลือโทษเกิน 5 ปี ต่อให้จำเลยสารภาพก็รอลงอาญาไม่ได้ เพราะเกินอำนาจศาล แต่การผลักดันยังไม่สำเร็จ

ขณะที่ปัจจุบันมีกฎหมายที่สะท้อนความพยายามกระชับดุลพินิจศาลเรื่องเมาขับให้มีทิศทางสร้างแรงกระเพื่อมสังคมได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเมาขับที่ยังไม่ชนใคร ที่ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ฉบับใหม่ เจอเมาขับครั้งแรก ศาลให้รอลงอาญา คุมประพฤติได้ แต่หากเมาขับผิดซ้ำภายใน 2 ปี ให้ศาลสั่งจำคุกด้วยเสมอ

โอกาส “เมาขับ=จำคุก” จึงอาจได้เห็นตัวอย่างจริงๆ ในไม่ช้า.

ที่มา: ทีมข่าวอาชญากรรม  crimedn@dailynews.co.th

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved