ใครต้องทำอะไร ? เพื่อไม่ให้ “ดื่ม/เมาขับ”.. มาสร้างความสูญเสียบนถนน  


10 มี.ค. 2564 4717 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


“ดื่ม/เมาขับ” คงยังไม่สามารถหายไปจากสังคมในเร็ววัน แต่ถ้ามีการขยับไปพร้อม ๆ กันทั้ง “ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ” ก็จะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนเหมือนหลาย ๆ ประเทศที่จัดการปัญหาเหล่านี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ณ ปัจจุบันจุดสำคัญในการจัดการปัญหานี้ในระยะสั้น/เร่งด่วน คือมาตรการบังคับใช้กฎหมาย “โทษหนักบังคับเข้ม”

ข่าวคน “ดื่ม/เมาขับ” สร้างความสูญเสียบนถนนได้กลับมาให้เห็นเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงวันหยุด อย่างล่าสุดที่เพิ่งเกิดเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 5 และเสาร์ที่ 6 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สังคมได้รับรู้พฤติกรรมคนเมาขับที่ไปสร้างความเสียหายหรือสูญเสียชีวิต ทั้งกรณี “อาจารย์สาวเมาซิ่งเบนซ์ ชนวิศวกรหนุ่มคุมงานดับคาถนน” : https://www.dailynews.co.th/regional/829293 และกรณี “เมาซิ่งฟอร์จูนเนอร์ชนยับ ขับหนี10โลเสยกระบะสิ้นฤทธิ์” https://www.dailynews.co.th/regional/829302 รวมไปถึงเหตุการณ์สูญเสียกรณี “น้องน้ำมนต์” รองนางสาวไทย เมื่อคืนวันที่ 15 ก.พ. ติดกับวันวาเลนไทน์ ที่สาเหตุอุบัติเหตุเกี่ยวข้องกับคนขับรถเมาขับ https://www.dailynews.co.th/regional/826195

แม้ว่าปกติแล้วก็มีคนดื่ม/เมาขับอยู่ส่วนหนึ่ง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงที่มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด เช่นการมีจุดตรวจเมาขับที่ตรวจเข้มบนถนนก็ช่วย “ป้องปราม” (Deterrence Effect) พฤติกรรมดื่ม/เมาขับและผลกระทบได้ระดับหนึ่ง และเมื่อมีนโยบายทบทวนการตั้งจุดตรวจ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวันที่ 1 ต.ค. 2563 , ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ กระทรวงสาธรณสุข (Injury Surveillance: IS ) รวบรวมโดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรคก็พบว่า ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 มีผู้บาดเจ็บรุนแรงที่ดื่มขับร่วมด้วย เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นถึง 42% (โดยช่วง 9 เดือนแรก มค.-กย.63 มีจำนวนบาดเจ็บรุนแรง 29,781 ราย เฉลี่ย 3,309 ราย/เดือน และช่วง ตค.-ธ.ค.63 ที่มีการทบทวนตั้งจุดตรวจมีจำนวนบาดเจ็บรุนแรง 14,105 ราย เฉลี่ย 4,701.6 ราย/เดือน) ไม่เฉพาะแต่ข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บ กระทรวงสาธารณสุข แต่ตัวเลขของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปรียบเทียบช่วงสงกรานต์ปี 63 กับปี 62 ก็พบว่าผู้เสียชีวิตลดลงถึงร้อยละ 57 โดยเป็นผลมาจากมาตรการ/ยาแรง ทั้งการ lock down, curfew และห้ามขายเหล้า ด้วยเช่นกัน

การที่รัฐบาลและ ศบค.มีนโยบายปลดล๊อกขายเหล้า ตั้งแต่ 1 มี.ค. 64 โดยระบุกำชับเพียงกว้าง ๆ กับประชาชน “ข้อสำคัญทุกคนต้องระวังตัวเอง ไม่ทำให้ตัวเองเข้าไปรับความเสี่ยง ..” แต่ขาดมาตรการรัฐที่สำคัญอย่างมาตรการที่ “ต้นน้ำ” เช่น ร้านจำหน่ายต้องร่วมรับผิดชอบดูแลกำกับมิให้คนเมาออกมาสร้างความสูญเสีย มาตรการหน่วยงานองค์กรที่กำกับบุคลากรมิให้ฝ่าฝืนมิเช่นนั้นมีบทลงโทษรุนแรง (กรณีต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่นพนักงานที่มีคดีเมาขับ จะถูกไล่ออก หรืออย่างเกาหลี ที่ดาราไทย ถูกแบนจากกรณีเมาขับ) และมาตรการ “กลางน้ำ” ซึ่งหลายประเทศใช้เป็นมาตรการหลัก คือมีจุดตรวจเข้มคนเมาขับ ให้ได้รับการป้องปรามและเกรงกล้วที่จะถูกตรวจ (ไม่รอด) รวมถึงมาตรการ “ปลายน้ำ” ที่จะเสริมให้ประชาชนตัดสินใจว่า “ไม่คุ้มค่า” ถ้าเมาขับแล้วถูกดำเนินคดี เพราะจะมีผลทั้งในเชิงคดีและหน้าที่การงานในอนาคต

ซึ่งข้อมูลจากสวนดุสิตโพล ที่สำรวจประชาชนจำนวน 2,152 ตัวอย่าง เมื่อเดือนก.พ. 2564 ที่ผ่านมา แม้จะมีถึงร้อยละ 30 ที่เคยดื่มแล้วไปขับขี่ และกว่าครึ่ง (56.37%) จะเคยพบเห็น/หรือตกอยู่ในเหตุการณ์การขับขี่รถขณะเมาสุรา โดยเกือบทั้งหมด (93.96%) เห็นด้วยกับการเพิ่มอัตราโทษสำหรับผู้ที่กระทำผิดซ้ำในข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา และมีถึงร้อยละ 87.45 เห็นด้วยกับการที่ผู้กระทำความผิดซ้ำ ควรถูกตัดสินโทษจำคุกอย่างเดียว โดยไม่ควรมีการรอลงอาญาหรือรอการกำหนดโทษ

ดังนั้น ข้อพิจารณาที่สำคัญเพื่อไม่ให้ “เมาขับ” .. กลับมาสร้างความสูญเสียบนถนน ที่มีต่อหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนและสังคม ทั้งมาตรการ “ต้น-กลาง-ปลายน้ำ” ได้แก่

1. มาตรการ “ต้นน้ำ” หน่วยงานทั้งภาครัฐ-เอกชน-ภาคสังคม มีมาตรการหรือข้อกำหนดกับพนักงาน/บุคลากรในสังกัด เพื่อป้องปรามมิให้กระทำความผิด “ดื่ม/เมาขับ” และถ้ามีการกระทำผิดก็ต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจน อาทิเช่น

1.1 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีข้อกำหนดให้กับมหาวิทยาลัยในสังกัด ทั้งรัฐ-เอกชน ฯ รวมทั้งมหาวิทยาลัยก็มีข้อกำหนดให้กับบุคลากร อาจารย์ นิสิต-นักศึกษา ที่ต้องตระหนักกับพฤติกรรมเสี่ยงดื่ม/เมาขับ และมีระบบเข้มงวดตรวจสอบมิให้บุคลากรในสังกัดฝ่าฝืน ละเมิด เป็นต้น

1.2 กระทรวงศึกษาธิการ การนิคมแห่งประเทศไทย นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ และหน่วยงานองค์กรต่างๆ ฯลฯ มีกติกา/ข้อกำหนดที่มีผลต่อบุคลากรหรือสถานประกอบการ ต้องสร้างมาตรการป้องปรามพฤติกรรมดื่ม/เมาขับ เช่น งานเลี้ยงต่าง ๆ ในองค์กรต้องมิให้มีแอลกอฮอล์ , ถ้ามีพนักงานกระทำความผิด มีบทลงโทษ เป็นต้น

1.3 กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าใช้ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเต็มที่ควบคู่ไปกับการดึงการมีส่วนร่วมจากภาคสังคม เช่น กลไกทำงาน อสม.ให้มีบทบาทในเรื่องนี้ควบคู่ไปกับเรื่องโควิด ที่สำคัญคือกรณีที่มีการบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิตจากดื่มขับ ควรมีการวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อโยงสาเหตุไปที่รากปัญหา พร้อมทั้งการสะท้อนกลับสู่ “ต้นน้ำ” เพื่อสร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมจัดการปัญหา

1.4 ท้องถิ่น/ชุมขน มีข้อกำหนด-กติการชุมชน ฯลฯ เรื่องดื่มไม่ขับ พร้อมมีมาตรการรองรับต่าง ๆ เช่น งานบุญประเพณีปลอดเหล้า มีจุดตรวจ/จุดสกัดเข้ม โดยเฉพาะกรณีที่มีงานรื่นเริงในชุมชน ฯลฯ

2. มาตรการ “กลางน้ำ” การมีจุดตรวจเข้มเพื่อป้องปรามคนดื่ม/เมาขับบนถนน

2.1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งมาตรการบังคับใช้บนถนนให้มีประสิทธิผลในการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยง “ดื่ม/เมาขับ” โดยกำกับ ประเมินประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลเทียบกับ

• ผลการดำเนินงานแต่ละกองบัญชาการ (ภาค) กองบังคับการ (จังหวัด) และกองกำกับการ (สภ.)

• ผู้บาดเจ็บที่เข้ารักษาตัว จากดื่ม/เมาขับ ลดลง

• จำนวนรถถูกเรียกตรวจแอลกอฮอล์ (การศึกษาต่างประเทศ/WHO แนะนำให้สามารถตรวจแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ย 1-1.5 ครั้ง/ยานพาหนะ/ปี , แต่ในประเทศไทยอาจจะปรับลดตามเหมาะสม)

2.2 ในระดับจังหวัดมีระบบติดตามกำกับ การตั้งจุดตรวจเมาขับ จำนวนคดีและผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากดื่มขับ เพื่อทบทวนมาตรการโดยคณะอนุกรรมการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดด้านการบังคับใช้กฎหมาย ทุกเดือน

3. มาตรการ “ปลายน้ำ” โทษหนัก .. แน่นอนและจริงจัง โดย

3.1 สถาบันตุลาการ ทบทวน/วางแนวหรือบทกำหนดโทษ กรณีดื่ม/เมาขับ ทั้งคนเมาขับจากจุดตรวจบนถนน หรือเมาขับที่ทำให้เกิดความสูญเสีย ควรมีบทลงโทษที่รุนแรง มีความแน่นอนและจริงจัง โดยเฉพาะคนเมาขับที่กระทำความผิดซ้ำๆ ซึ่งพบบ่อยในสังคม ไม่ควรมีการรอลงอาญา

3.2 หน่วยงานที่ดูแล/กำกับกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก ฯ กรณีความผิดที่แสดงพฤติกรรมอันตรายกับสังคม ควรพิจารณาเพิกถอน/ระงับใบอนุญาตใบขับขี่

4. ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ในฐานะหน่วยงานบูรณาการ เร่งให้มีการนำกลไก ศปถ.ในทุกระดับ ทั้งส่วนกลาง-จังหวัด-อำเภอ-อปท. มาเป็นเครื่องมือ “บูรณาการมาตรการ” “ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ” พร้อมทั้งมีระบบกำกับติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกเดือน

ท้ายนี้ ปัญหา “ดื่ม/เมาขับ” คงยังไม่สามารถหายไปจากสังคมในเร็ววัน แต่ถ้ามีการขยับไปพร้อม ๆ กันทั้ง “ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ” ก็จะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนเหมือนหลาย ๆ ประเทศที่จัดการปัญหาเหล่านี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ณ ปัจจุบันจุดสำคัญในการจัดการปัญหานี้ในระยะสั้น/เร่งด่วน คือมาตรการบังคับใช้กฎหมาย “โทษหนักบังคับเข้ม” คือ มีจุดตรวจเข้มเพื่อมั่นใจว่าคนดื่ม/เมาขับ บนถนนจะได้รับการตรวจจับ รวมทั้งการมีบทลงโทษที่รุนแรง-ชัดเจน/แน่นอน โดยมีมาตรการเสริมเพื่อให้สังคมตระหนักและปรับเปลี่ยน ทั้งมาตรการต้นน้ำ มาตรการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ (norm) ก็จะช่วยมาเสริมได้อีกทางหนึ่ง

ที่มา :สำนักข่าวอิศรา

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved