การขับเคลื่อนนโยบาย "ตำบลขับขี่ปลอดภัย"  


31 ต.ค. 2562 2557 แผนงาน : ศวปถ.& มนป.   


การขับเคลื่อนนโยบาย “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” จะเป็นร่มใหญ่ของการขยับการทำงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้ลงไปแนบชิดกับพื้นที่มากขึ้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย [ท่านนิพนธ์ บุญญามณี] ได้เน้นย้ำให้ใช้หลักการของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีปี 2554 เรื่องความปลอดภัยทางถนน ในการกำหนดให้มีโครงสร้างคณะทำงานด้านความปลอดภัย ระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ทั้งนี้ กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย [ปภ.] ได้จัดให้มีเวทีวิชาการเพื่อมอบนโยบาย “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ครบทั้ง4 ภูมิภาคเรียบร้อยแล้ว
.
.
กรอบการขับเคลื่อนนโยบายตำบลขับขี่ปลอดภัยภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีปี 2554 เรื่องความปลอดภัยทางถนน รวมทั้งข้อสั่งการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ได้เสนอให้มีการเชื่อมโยงกลไก ศปถ. ในทุกระดับ [จังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น] โดยมีโจทย์ร่วมคือ (A) “การพัฒนาให้เกิดการทำงานเชิงกลไก” และ (B) “การจัดการพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญ” [หมวกฯ เมา เร็ว ฯลฯ จุดเสี่ยง/อันตราย ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่]
.
.
จุดเปลี่ยนสำคัญเรื่อง “การทำงานเชิงกลไก” นพ.ธนะพงศ์ เสนอให้คลี่องค์ประกอบของกลไกออกเป็น 4 ส่วนได้แก่ (1) การพัฒนาบุคลากร (2) ระบบข้อมูล (3) แผนงานบูรณาการ และ (4) การกำกับติดตามประเมินผล กล่าวคือ คนทำงานต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพ ให้สามารถรวบรวม/วิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศและนำไปใช้กำหนดเป็นแผนงาน/นโยบายระดับพื้นที่ได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหา เชื่อมโยงความร่วมมือกับ “เจ้าภาพ” ที่ใกล้ชิดกับปัญหาในพื้นที่ เช่น สถาบันการศึกษา สถานประกอบการ ท้องถิ่นชุมชน ฯลฯ เพื่อให้การจัดการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน ทั้งนี้ ต้องมีการกำกับติดตามประเมินผลลัพธ์จากการทำงานเพื่อตรวจสอบความสำเร็จการดำเนินงาน ที่ “ไม่ใช่” แค่การวัดผลลัพธ์ปลายทาง [longterm outcome] ที่มุ่งลดการบาดเจ็บเสียชีวิตเท่านั้น แต่ควรต้องประเมินผลลัพธ์แต่ละขั้นที่ต้องปรับเปลี่ยนก่อนนำไปสู่ผลลัพธ์ปลายทาง ครอบคลุมเรื่องการประเมินการขับเคลื่อนกลไก ศปถ. การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม [สังคมและกายภาพ] และพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญ
.
.
การมุ่งไปสู่กรอบการทำงานเพื่อตอบโจทย์ทั้ง (A) และ (B) จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการหนุนเสริมทางวิชาการ ทำอย่างไร ศปถ.จังหวัดจะสามารถเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการ ชี้เป้าความเสี่ยง จัดลำดับความสำคัญของปัญหา ให้ ศปถ.อำเภอ ขณะที่ ศปถ.อำเภอ ควรมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการในการเชื่อมโยงให้เกิดการทำงานในท้องถิ่น วิเคราะห์พฤติกรรมเสี่ยงสำคัญ เชื่อมโยงเจ้าภาพที่เกี่ยวข้องให้ร่วมจัดการปัญหา
.
.
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกลไกการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนภายใต้นโยบาย “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ร่วมกันนะครับ

© 2018 - www.roadsafetythai.org All rights reserved